“เวลส์ฟาร์โก” เตือนเศรษฐกิจสหรัฐซบเซาอาจสกัดช่วงขาขึ้นดัชนี S&P500

เวลส์ ฟาร์โก อินเวสต์เมนท์ อินสติติวท์ (Wells Fargo Investment Institute) ออกรายงานเตือนเมื่อวานนี้ (27 พ.ย.) ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐจะสกัดช่วงขาขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐ และส่งผลกระทบต่อหุ้นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (consumer discretionary) และหุ้นที่มีทุนจดทะเบียนต่ำ (small cap stocks)

เวลส์ ฟาร์โกได้ปรับลดคาดการณ์ดัชนี Russell 2000 Index ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นกลุ่มบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำ ขณะเดียวกันก็คงตัวเลขคาดการณ์กรอบเป้าหมายของดัชนี S&P500 ไว้ที่ 4,600-4,800 จุด ส่วนในการซื้อขายเมื่อวานนี้ ดัชนี S&P500 ปิดตลาดที่ระดับ 4,550.43 จุด

ทั้งนี้ เวลส์ ฟาร์โกระบุว่า แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังชะลอตัวลง แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) พิจารณาเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ด้วยเหตุนี้ เศรษฐกิจสหรัฐจึงมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะสินเชื่อที่ตึงตัวเป็นเวลานานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

“เราเชื่อว่าช่วงขาขึ้นของดัชนี S&P500 จะถูกสกัดกั้นไว้ จนกว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนจะปรากฏชัดเจน และเราแนะนำว่านักลงทุนควรจะเข้าช้อนซื้อหุ้นในบริษัทเทคโนโลยีที่มีทุนจดทะเบียนสูง หากดัชนี S&P500 ปรับตัวลงใกล้กรอบล่างของ 4,600-4,800 จุดที่เราคาดการณ์ไว้” เวลส์ ฟาร์โกระบุในรายงาน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นกว่า 10% ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ชะลอตัวลงจากระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี หลังมีสัญญาณบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเงินเฟ้อและตลาดแรงงานที่อ่อนแอลง ซึ่งช่วยหนุนมูลค่าของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และหุ้นเติบโต (Growth Stocks) กลุ่มอื่น ๆ

เฟดสาขาแอตแลนตาเปิดเผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดซึ่งแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะขยายตัว 2.1% ในไตรมาส 4/2566 ซึ่งชะลอตัวลงจากไตรมาส 3 ที่มีการขยายตัว 5.1%

อย่างไรก็ดี FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 22% ที่เฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. 2567 เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 1 เดือนที่แล้วซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.7%

เวลส์ ฟาร์โกคาดการณ์ว่า การที่เศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มจะกลับมาขยายตัวอย่างรวดเร็วอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 นั้น จะเป็นปัจจัยหนุนให้ตลาดหุ้นดีดตัวขึ้น ขณะที่การอ่อนค่าของดอลลาร์และการปรับตัวลงของอัตราดอกเบี้ยจะเป็นปัจจัยกระตุ้นนักลงทุนทั่วโลกให้เข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างคึกคัก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ย. 66)

Tags: , , ,