สภาพัฒน์ เผยภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/66 พบ การจ้างงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง 1.3% จากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม การว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ 0.99% แต่มีจำนวนผู้เสมือนว่างงานเพิ่มขึ้น ขณะที่หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 2/66 เพิ่มขึ้น 3.6% ส่วนคุณภาพสินเชื่อภาพรวมปรับตัวลดลงเล็กน้อย จับตาความเสี่ยงต่อการติดกับดักหนี้ของเกษตรกร และการเร่งดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/66 พบว่า สถานการณ์ด้านแรงงานในไตรมาส 3/66 ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 40.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.3% จากการขยายตัวของการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ 2.0% ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรม ขยายตัว 1.0% โดยเฉพาะสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ที่ขยายตัวกว่า 8.3% ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปีก่อน เช่นเดียวกับสาขาการก่อสร้าง และสาขาการขนส่งและเก็บสินค้า ที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.9% และ 2.1% ตามลำดับ
ส่วนสาขาการผลิต การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น 0.6% โดยเป็นผลจากการผลิตสินค้าเพื่อขายในประเทศ อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม โลหะขั้นมูลฐาน แต่สาขาการผลิตเพื่อส่งออกในหลายสาขา มีแนวโน้มจ้างงานลดลง ในส่วนของชั่วโมงการทำงานลดลงเล็กน้อย โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 42.4 และ 46.1 ชั่วโมง/สัปดาห์ จากจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลาที่ลดลง 2.0% ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานที่เพิ่มขึ้น 24.9% ในส่วนของอัตราการว่างงาน อยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 โดยลดลงมาอยู่ที่ 0.99% หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 4.01 แสนคน
สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่
1. การยกระดับผลิตภาพแรงงานภาคเกษตรกรรม โดยผลิตภาพแรงงานในภาคการเกษตรของไทยขยายตัวต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
2. การหดตัวของการส่งออก อาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในสาขาการผลิต โดยการส่งออกที่ลดลงตั้งแต่ไตรมาส 3/65 อาจกระทบต่อการจ้างงานในสาขาการผลิตเพื่อการส่งออกที่สำคัญหลายรายการ อาทิ ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก อุปกรณ์ไฟฟ้า
3. ระดับราคาสินค้าที่อาจปรับตัวสูงขึ้นก่อนการปรับอัตราค่าจ้าง ซึ่งการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ก่อนการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำราคาสินค้ามักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นทั้งที่ต้นทุนการผลิตไม่ได้เปลี่ยนแปลง
*หนี้ครัวเรือน Q2/66 เพิ่ม 3.6% จับตาความเสี่ยงกับดักหนี้เกษตรกร
ในไตรมาส 2/66 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.07 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.6% คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา หากพิจารณาหนี้ครัวเรือนรายวัตถุประสงค์ พบว่า สินเชื่อเกือบทุกประเภทขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยการขยายตัวของหนี้สินครัวเรือน มีที่มาจากหนี้เพื่ออสังหาริมทรัพย์และหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเป็นหลัก
สำหรับความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน ลดลงเล็กน้อย โดย NPL มีมูลค่า 1.47 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2.68% จากไตรมาสก่อน และคิดเป็นสัดส่วน 2.71% ต่อสินเชื่อรวม
อย่างไรก็ตาม หนี้สินครัวเรือนมีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่
1. ความเสี่ยงในการติดกับดักหนี้ของเกษตรกรไทยจากมาตรการพักหนี้ โดยจากผลการศึกษาถึงผลกระทบของมาตรการพักหนี้เกษตรกรที่ผ่านมา พบว่า มาตรการฯ ไม่สามารถลดหนี้ของเกษตรกรได้มากนัก เพราะเกษตรกรที่เข้าร่วมมักมีการก่อหนี้เพิ่ม เนื่องจากรายได้จากการทำการเกษตรยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ดังนั้น ต้องมีการยกระดับรายได้ควบคู่กับการดำเนินมาตรการฯ
2. การเร่งดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เนื่องจากยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งมูลค่าหนี้และบัญชีที่เป็นหนี้เสีย
“ลูกหนี้ SMEs และผู้ประกอบการช่วงโควิด-19 ที่ยังเป็นหนี้ต่อเนื่อง ต้องดูว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมาจากธุรกิจประเภทใด โดยหนี้เสียส่วนใหญ่อาจยังไม่สามารถกลับมาสร้างรายได้ได้อย่างเต็มที่มากนัก เนื่องจากโควิดประสบปัญหาเยอะ และนาน ต้องไล่ดูว่ารหัส 21 เป็นธุรกิจประเภทใดบ้าง ถ้าเป็นธุรกิจท่องเที่ยว ตอนนี้น่าจะปรับตัวขึ้นมาได้บ้างแล้ว แต่ถ้าเป็นสินค้า หรือเกี่ยวพันกับการส่งออก อาจต้องดูรายละเอียดอีกครั้ง แต่โดยรวมเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลพยายามแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง และมีมาตรการออกมามาก ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ต่อเนื่องด้วย ซึ่งก็ต้องเร่งแก้ต่อไป” นายดนุชา กล่าว
ส่วนมาตรการหนี้ที่รัฐบาลจะแถลงในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ย.) ในส่วนของสภาพัฒน์ เข้าไปประชุมด้วยในกรรมการที่มีการปรับแก้ปัญหาหนี้ ซึ่งต้องรอติดตามว่ามาตรการจะออกมาลักษณะใด โดยที่ผ่านมา การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ก็พยายามดึงลูกหนี้นอกระบบกลับมาในระบบ และจัดการหนี้นอกระบบต่างๆ
อย่างไรก็ดี แน่นอนว่าคนที่เป็นหนี้ที่หลุดออกมาแล้ว แต่ไม่สามารถสร้างรายได้ และยังไม่มีวินัยทางการเงิน ก็จะกลับไปเป็นหนี้นอกระบบเหมือนเดิม ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือต่อเนื่อง และช่วยทำความเข้าใจให้คนกลุ่มนี้ไม่กลับไปอยู่นอกระบบอีก
*คนรุ่นใหม่เข้าถึงสินเชื่อง่าย “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” เสี่ยงก่อหนี้เกินตัว
ปัจจุบัน การขยายตัวของการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ และการเชื่อมโยงของฐานข้อมูล และพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการและสถาบันการเงินสามารถให้สินเชื่อกับผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น และทำให้เกิดบริการผ่อนชำระที่เรียกว่า “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” หรือ “Buy Now Pay Later (BNPL)” โดยถือเป็นบริการที่เข้ามาเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยทั้งในรูปแบบออฟไลน์หรือออนไลน์ ซึ่งผู้ขอสินเชื่อใช้เพียงบัตรประชาชนเท่านั้น
จากการเข้าถึงสินเชื่อที่ง่ายดังกล่าว ทำให้การใช้บริการ BNPL แพร่หลายอย่างมาก โดยในปี 65 มีจำนวนผู้ใช้ทั่วโลกกว่า 360 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 900 ล้านคน ในปี 70 อีกทั้งในปี 64 BNPL ยังสามารถสร้างมูลค่าตลาดได้ถึง 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับประเทศไทย จากรายงาน “Thailand Buy Now Pay Later Market Repot 2022” คาดว่า มูลค่าตลาด BNPL ในปี 65 อยู่ที่ประมาณ 5.5-6.5 หมื่นล้านบาท จากสถานการณ์ดังกล่าว สศช. ร่วมกับบริษัท ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด จึงได้ศึกษาและสำรวจพฤติกรรมและทัศนคติของผู้ใช้ BNPL ในกลุ่มประชาชนที่มีอายุระหว่าง 15-55 ปี และพบว่า 23.1% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เป็นผู้ที่เคยใช้บริการ BNPL ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen Y และใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก โดยผู้ใช้มากกว่า 1 ใน 3 มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน อีกทั้งผู้ใช้เกือบทั้งหมดไม่เคยผิดนัดชำระในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการใช้บริการ และทัศนคติของผู้ใช้บริการ สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงของ BNPL หลายประการ คือ
1. มากกว่าครึ่งของเด็ก Gen Z ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท ใช้บริการ BNPL และส่วนใหญ่ใช้จ่ายไปกับเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมเสี่ยงของเด็กรุ่นใหม่ที่อาจก่อหนี้เกินตัวในอนาคต
2. BNPL กระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้น ขณะที่ผู้ใช้ BNPL ยังเป็นกลุ่มที่มีหนี้หลายประเภท โดยผู้ใช้ BNPL มากกว่า 3 ใน 5 ระบุว่า ตัดสินใจซื้อสินค้าได้เร็วขึ้น หากมีบริการผ่อนชำระ อีกทั้งผู้ใช้บริการ BNPL เกือบครึ่งมีภาระหนี้อยู่แล้ว (ไม่รวมหนี้ BNPL) จึงอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ และเกิดหนี้เสียในระยะถัดไป
3. ผู้ใช้บริการ BNPL ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการจะซื้อของไม่จำเป็นมากขึ้น หากมีการผ่อนชำระ รวมทั้งเห็นด้วยกับการใช้จ่ายเพื่อให้รางวัลกับตนเองก่อนการตัดสินใจออมหรือลงทุน สะท้อนให้เห็นว่า บริการ BNPL อาจทำให้ผู้ใช้ขาดวินัยการออมและการลงทุน
4. ผู้ใช้บริการ BNPL ได้รับข้อมูลจากผู้ให้กู้ยืมยังไม่ครบถ้วน และต้องการการกำกับดูแลจากภาครัฐ อาทิ ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย
นายดนุชา กล่าวว่า จากประเด็นข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า แม้ BNPL จะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และมีส่วนช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ แต่อาจนำไปสู่การมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่เหมาะสม และการติดกับดักหนี้ ดังนั้น ประเทศไทยต้องมีกำกับดูแลที่ครอบคลุมผู้ให้บริการ BNPL ทุกประเภทอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับในหลายประเทศ รวมถึงผู้ใช้บริการจำเป็นต้องมีวินัยทางการเงิน เพื่อให้ตระหนักถึงความเสี่ยงในการเป็นหนี้ และการใช้จ่ายเกินตัว
“BNPL แม้ผลการสำรวจจะยังไม่มีปัญหา เพราะมีการจ่ายชำระหนี้ไม่ผิดนัดมากนัก แต่ในอนาคต ถ้าไม่สร้างความเข้าใจถึงการใช้จ่ายที่ถูกต้อง โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Y และ Z ระบบนี้ก็จะเป็นปัญหา เพราะเข้าถึงสินเชื่อ และการเป็นหนี้ได้ง่าย ดังนั้น อาจต้องมีเกณฑ์ในการให้ข้อมูล ในการลงทะเบียน มีเกณฑ์ต่างๆ ให้ชัดเจน และป้องกันความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดหนี้ครัวเรือน หนี้บริโภคมากขึ้น” นายดนุชา กล่าว
เมื่อถามถึงช่องว่างทางการคลัง (Policy Space) ซึ่งล่าสุดนโยบายของรัฐบาลมีการเพิ่มรายจ่ายของรัฐ เช่น การขึ้นเงินเดือนข้าราชการ หากพิจารณาจากช่องว่างทางการคลังที่เหลืออยู่ จะสามารถทำได้หรือไม่นั้น นายดนุชา กล่าวว่า เรื่องการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ต้องรอติดตามเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ หรือสัปดาห์หน้า ซึ่งย้ำว่าไม่ได้เป็นการขึ้นเงินข้าราชการทั้งระบบ โดยส่วนที่จะดำเนินการก่อน เนื่องจากเล็งเห็นแล้วว่าระดับเงินเดือนของข้าราชการแรกเข้าบรรจุ มีอัตราต่ำเมื่อเทียบกับเอกชน
ส่วนการบริหารช่องว่างทางการคลัง ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการจัดลำดับการใช้จ่าย และเป็นเรื่องการขยายฐานรายได้ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ซึ่งต้องทำทั้ง 2 ส่วน เพื่อให้ช่องว่างทางการคลังขยายตัวขึ้นมาได้ ขณะเดียวกัน รายจ่าย สวัสดิการต่างๆ ก็มีรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการที่รัฐออกมาในช่วงที่แล้ว มาตรการบางอย่างอาจต้องทำควบคู่กันไป เพื่อสร้างความสามารถในการสร้างรายได้ของบุคคล สร้างงาน เพื่อให้มีรายได้มากขึ้น หลุดจากระบบเดิมๆ ดังนั้น ต้องมีการปรับปรุงข้อมูลทุกปี เช่น บัตรสวัสดิการ ที่ต้องทำทั้ง 2 ส่วนควบคู่กันไป เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ย. 66)
Tags: การจ้างงาน, ดนุชา พิชยนันท์, ภาวะสังคมไทย, สภาพัฒน์