จับตาผลผลิตข้าวนาปรัง-มันสำปะหลังปี 67 อาจชะลอรับผลเอลนีโญลากยาว

KKP Research เผยสาเหตุที่ปรากฎการณ์เอลนีโญในปีที่ผ่านมา ไม่ได้รุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายกังวล เนื่องจากขาดปัจจัยอื่น ๆ หนุนเสริม ได้แก่ 1. ช่วงเวลาของการเกิดเอลนีโญ ที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนพอดี ทำให้พอมีน้ำฝนในพื้นที่ต่าง ๆ บ้าง แม้ว่าจะน้อยลงจากปกติ แต่ยังไม่ถึงขั้นฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลาหลายเดือนติดต่อกันเหมือนกับเอลนีโญในฤดูแล้ง และ 2. ปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับสูง จากปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปกติจากปรากฎการณ์ลานีญาในช่วงปลายปีก่อนหน้า ทำให้พื้นที่เกษตรโดยเฉพาะในเขตชลประทาน มีน้ำเพียงพอเพาะปลูกไปได้

ปัจจุบันผลผลิตภาคเกษตรกรรมโดยเฉลี่ย ยังไม่ได้รับผลกระทบอย่างที่คาด และยังคงเติบโตได้เมื่อเทียบกับปี 2565 หากเปรียบเทียบกับการเติบโตของผลผลิตภาคเกษตรปรับฤดูกาลของเดือน ม.ค. – เม.ย.66 เทียบกับปีก่อนหน้า พบว่ายังเติบโตได้ 4.8% ขณะที่ผลผลิตภาคเกษตรในเดือน พ.ค. – ก.ย.66 ยังเติบโตได้ 1.57% เช่นกัน

แต่ไม่ใช่ว่าทุกภูมิภาคหรือทุกสินค้าเกษตร จะได้รับผลกระทบจากเอลนีโญเท่ากัน โดยสินค้าเกษตรที่จะได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ ถ้าพิจารณาฤดูกาลเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จะพบว่ากลุ่มพืชไม้ยืนต้น เช่น ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ที่มีผลผลิตออกมาตลอดทั้งปี และต้องการน้ำในการเพาะปลูกน้อยกว่า จะไม่ค่อยได้รับผลกระทบโดยตรงมากนัก ในทางตรงกันข้าม กลุ่มพืชไร่ที่เพาะปลูกแบบปีต่อปี และต้องการน้ำค่อนข้างมาก โดยเฉพาะข้าวนาปรัง และมันสำปะหลัง ที่มีรอบการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า จะได้รับผลกระทบมากกว่า

ขณะเดียวกัน ผลกระทบของเอลนีโญต่อประเทศอื่น ทำให้เริ่มมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการขาดแคลนอาหารในอนาคตบ้างแล้ว และทำให้ราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าว ซึ่งจะเป็นโอกาสของเกษตรกรไทย เพราะไทยบริโภคข้าวเพียง 55% ของการผลิตข้าวทั้งหมดประมาณ 20 ล้านตันในแต่ละปี และสามารถส่งออกข้าวที่เหลืออีก 45% หรือประมาณ 6-8 ล้านตัน ดังนั้น จากสถานการณ์ของผลผลิตเกษตร ที่แม้จะไม่ได้เติบโตขึ้นอย่างมาก แต่ก็ไม่ได้หดตัวอย่างรุนแรง กลับยังได้รับอานิสงส์จากการที่สามารถส่งออกข้าวในราคาที่สูงขึ้น

KKP Research ชี้ว่า จากแนวโน้มของเอลนีโญที่จะลากยาวเข้าสู่ฤดูแล้งในช่วงปลายปี 2566 ต่อเนื่องจนถึงกลางปี 2567 นั้น อาจจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตรในปี 2567 ได้ค่อนข้างมาก จากฝนที่อาจทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะข้าวนาปรัง ที่จะเริ่มเพาะปลูกในช่วงปลายปีนี้ และเก็บเกี่ยวไปจนถึงกลางปีหน้า

ขณะที่น้ำในเขื่อน แม้ว่าในช่วงกลางปีที่ผ่านมา จะลดต่ำลงจนน่าเป็นห่วง แต่ในช่วงเดือนที่ผ่านมาฝนตกมากกว่าที่คาด ช่วยเติมน้ำในเขื่อนหลายแห่งจนอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

“ด้วยปัจจัยหนุนเสริมทั้ง 2 ประการ KKP Research คาดการณ์ว่าผลผลิตภาคเกษตรในปีนี้ จะสามารถยืนระยะต่อไปได้ แต่จะไม่ได้ขยายตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ปีหน้า ผลผลิตอาจชะลอตัวลงเล็กน้อย จากความเสี่ยงที่เอลนีโญจะยาวนานกว่าที่คาด แต่ด้วยน้ำในเขื่อนในระดับสูงเพียงพอ จะช่วยบรรเทาผลกระทบไปได้ส่วนหนึ่ง ขณะที่รายได้ของภาคเกษตรในปีนี้ และปีต่อไป คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ดีกว่าปีก่อน จากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ชดเชยผลผลิตที่ไม่ได้เติบโตสูงมากนัก” บทวิเคราะห์ ระบุ

อย่างไรก็ดี จากภาวะโลกร้อน และสภาพอากาศที่แปรปรวนมากขึ้นเรื่อย ๆ การเตรียมความพร้อม และเพิ่มการลงทุนของภาคเกษตร โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากจะมีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย ผ่านเกษตรกรที่ยังเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว การลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ยังจะช่วยลดความเสี่ยงของผลกระทบจากภัยธรรมชาติต่อเศรษฐกิจไทย และสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรไทยในระยะยาวด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ย. 66)

Tags: , , ,