นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สิ่งจำเป็นและสำคัญของประเทศไทย คือ resilience ที่เป็นเรื่องความทนทาน และความยืดหยุ่น ที่เศรษฐกิจไทยเมื่อล้มได้ แต่ต้องลุกเร็ว ซึ่งคงหนีไม่พ้นเรื่องเสถียรภาพ การมีกันชนต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งทั้งฐานะการเงินเอกชน ครัวเรือนและภาครัฐ การมีพื้นที่ทำนโยบาย หรือ Policy space ทางด้านการเงินการคลัง การมีทางเลือก และสุดท้ายต้องสร้างการเติบโตแบบใหม่
ที่ผ่านมา ธปท.ได้ปรับภูมิทัศน์ด้านการเงินใหม่ ออก Financial Landscape ภายใต้หลักการ “3 Open” ทั้ง Open Infrastructure, Open Data และ Open Competition ภูมิทัศน์การเงินสร้างความสมดุล ต้องมี Innovation ควบคู่กับการดูแลความเสี่ยง เน้นความยืดหยุ่นการปรับตัว มากกว่าเพียงเน้นเสถียรภาพ ต้องมีกรอบการกำกับ ไม่ใช่เข้มงวดทุกอย่าง ต้องควบคุมตามความเสี่ยง
“อะไรที่มองว่าเสี่ยงเยอะ ก็กำกับเยอะ อะไรไม่เสี่ยงเยอะ ก็ยืดหยุ่นได้” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
สำหรับการดำเนินการมี 3 มิติ หรือ 3 snapshot อย่างแรก เป็นเรื่องการชำระเงิน (เพย์เมนท์) ต้องการลดต้นทุนผ่านการปรับตัวไปช่องทางดิจิทัล อย่างเรื่องจัดการธนบัตร มีตั้งแต่การพิมพ์ธนบัตร ตรวจ ขนย้าย นับคัด ตรวจสภาพ จนถึงการทำลาย ซึ่งมีต้นทุนเงินสดปีละ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี มีต้นทุนสูงเมื่อเทียบช่องทางดิจิทัล
โดยที่ผ่านมา ไทยมีพร้อมเพย์มีผู้ลงทะเบียน 76 ล้านไอดี มีธุรกรรมเฉลี่ย 56 ล้านธุรกรรมต่อวัน คนใช้ 500 ครั้งต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้น 5 เท่าใน 5 ปีที่ผ่านมา และคนใช้โมบายแบงก์กิ้งเป็นอันดับ 1 ของโลก
“อยากเห็นเรื่องการใช้ดิจิทัลมากขึ้น สัดส่วนการใช้เงินสดสูงมาก โดยในไทย 5 ปีที่ผ่านมา จากเดิมมีการใช้เงินสด 68% ลดลงเหลือ 56% แต่เทียบกับประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์จาก 40% เหลือ 19% แต่ทั้งหมดเงินสดไม่ได้หายไป บทบาทเงินสดยังมีอยู่ ยังมีคนในพื้นที่ที่ห่างไกล แต่ก็ต้องลดต้นทุนเงินสด โดยการเปลี่ยนธนบัตรจากกระดาษเป็นโพลิเมอร์ มีความสะอาดความทนทาน และส่งเสริมให้ใช้ระบบชำระเงินข้ามประเทศ เช่น เชื่อมเพย์นาวกับสิงคโปร์ เป็นคู่แรกของโลก ค่าโอนลดลง และโอนได้อย่างรวดเร็วจาก 1-2 วันเป็น 1-2 นาที” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว
เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืน เป็นโจทย์ท้าทายค่อนข้างมาก มีทั้งภาคการเงินต้องตัดสินใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น และต้องมีผลิตภัณฑ์เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ได้ออกกฎระเบียบกฎเกณฑ์ และออก TAXONOMY เป็นไม้บรรทัดว่าสามารถไปสู่กรีนได้จริงหรือไม่ แต่สิ่งที่ขาดอยู่ คือ ผลิตภัณฑ์โปรแกรม ตอนนี้ ธปท.กำลังหารือกับธนาคารพาณิชย์ให้เกิดผลิตภัณฑ์ โดยเร็วๆ นี้จะแถลงรายละเอียด เช่น สินเชื่อเพื่อปรับกระบวนการใช้พลังงาน เป็นต้น
เรื่องที่ 3 เรื่อง Open Data จากเดิมต้องใช้กระดาษเวลาขอกู้ และถ้าไม่ใช่ คนมีรายได้ประจำก็ลำบาก หาเอกสารแสดงรายได้ยาก แต่สิ่งที่อยากเห็น คือ ทุกวันนี้ใช้บนโลกออนไลน์ ดิจิทัลฟุตปริ้น เช่น ยื่นภาษีออนไลน์ จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ซื้อของออนไลน์ โจทย์คืออยากให้เจ้าของข้อมูลผู้บริโภคได้ประโยชน์เชื่อมข้อมูล ผ่านการเปิดเผยข้อมูลของเจ้าของข้อมูล หน้าที่ ธปท.ต้องเอื้อให้สะดวกมากขึ้น สิ่งที่ต้องการคือ กฎระเบียบ มีเกณฑ์ เก็บข้อมูล และต้องมีมาตรฐานการเก็บข้อมูลเป็นมาตรฐานกลาง และต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน พยายามทำให้เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ คาดว่าจะเปิดเผยได้วันที่ 30 พ.ย.นี้
“ทั้ง 3 เรื่องนี้ บางเรื่องทำมาค่อนข้างดี แต่ย้ำว่าทุกเรื่องธปท.ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือหลายฝ่าย แต่ธปท.ไม่รอ ทำในส่วนของเราเต็มที่ ท้ายที่สุด พร้อมร่วมมือทุกฝ่าย อยากทำเรื่องพวกนี้เกิดขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยพร้อมรับ Future Ready” ผู้ว่าการ ธปท. ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 พ.ย. 66)
Tags: การเงิน, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ