นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 โครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง ว่า ในการศึกษาจะรวบรวมข้อมูลโครงสร้างต้นทุนของระบบขนส่งมวลชนทางรางในปัจจุบัน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อสรุปรูปแบบการกำหนดอัตราค่าโดยสารระบบขนส่งทางราง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมืองภูมิภาค และการเดินทางระหว่างจังหวัด กำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกแรกเข้า โครงสร้างอัตราค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชนทางรางที่เหมาะสม รวมถึงกำหนดมาตรการด้านการกำกับอัตราค่าโดยสาร การบูรณาการ มาตรการเพื่อส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งทางรางที่เหมาะสม และมาตรการชดเชยรายได้จากการจัดเก็บค่าโดยสาร
นอกจากนี้ ยังมีหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง เบื้องต้นหลักเกณฑ์จะพิจารณาจากโครงการ อัตราค่าโดยสารขั้นสูง ราคาค่าโดยสารที่ผู้โดยสารสามารถจ่ายได้ และการลงทุนของเอกชน เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ กำหนดราคาค่าโดยสารต่อเอกชนในอนาคต
ขณะที่จากการวิเคราะห์การปรับค่าแรกเข้า และอัตราค่าโดยสาร เบื้องต้นมองว่ารูปแบบที่เหมาะสมในการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ควรให้ภาครัฐลงทุน และให้เอกชนรับจ้างเดินรถแบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง ทำให้รัฐกำหนดค่าโดยสารได้ สำหรับรถไฟฟ้าในเมือง ค่าแรกเข้าอยู่ที่ 14 บาท และคิดอัตราค่าโดยสาร 2 บาทต่อกิโลเมตร ส่วนรถไฟความเร็วสูง ค่าแรกเข้าจะอยู่ที่ 95 บาท และอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 1.73 บาทต่อกิโลเมตร
ส่วนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่ต้องการปรับลดอัตราค่าโดยสาร สูงสุด 20 บาทตลอดสาย ในรถไฟฟ้า 2 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้า MRTสายสีม่วง และสายสีแดง ส่งผลทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสายสีแดง วันเสาร์-อาทิตย์ ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 25% ขณะที่วันจันทร์-ศุกร์ เพิ่มขึ้น 15% ส่วนสายสีม่วง วันเสาร์-อาทิตย์ ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 5% ขณะที่วันจันทร์-ศุกร์ เพิ่มขึ้น 15% และมองว่าหลังจากนี้รูปแบบที่เหมาะสม ยังเป็นการให้ภาครัฐเป็นเจ้าของสัมปทาน และจ้างเอกชนบริหารการเดินรถ
ขณะที่ในการศึกษา ยังมีแนวคิดกำหนดอัตราค่าโดยสารตามพื้นที่ (Zone fare)
กรณีที่ 1 ต้นทาง ปลายทาง โซนเดียวกัน คิดค่าโดยสาร 20 บาท อาทิ 1.โซนของสายสีน้ำเงิน ในปัจจุบันที่มีคนเดินทาง 70% ของคนกรุงเทพฯ
กรณีที่ 2 ต้นทาง ปลายทาง เดินทางข้าม 1 โซน คิดอัตราค่าโดยสาร 25 บาท
กรณีที่ 3 เดินทางข้ามสาย แต่ต้นทาง ปลายทางโซนเดียวกัน คิดอัตราค่าโดยสาร 20 บาท เช่น น้ำเงิน-ม่วง (หลักสอง- คลองบางไผ่), เขียว-ม่วง (เคหะ-คลองบางไผ่)
กรณีที่ 4 เดินทางข้ามสาย และต้นทาง ปลายทางต่างโซน คิดอัตราค่าโดยสาร 30 บาท เช่น เขียว-ม่วง (สยาม-คลองบางไผ่) น้ำเงิน-เขียว (สนามไชน-เคหะ)
โดยคาดว่าจะสามารถจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เพื่อเสนอรัฐบาลต่อไป
รองอธิบดีกรมราง กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการกรมการขนส่งทางราง ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นหนึ่งในหมวดของร่างพระราชบัญญัติขนส่งทางรางพ.ศ. … ที่ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเสนอของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำให้ยังไม่สามารถที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวได้
ภาพรวมของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ที่เพิ่งเปิดให้บริการไป เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา ในช่วงเวลา 15.00 น.-20.00 น. พบว่ามีผู้โดยสารมาใช้บริการประมาณ 40,000 คน โดยสายสีชมพูสามารถเชื่อมต่อกับ MRT สายสีม่วง รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีเขียว เชื่อว่าในอนาคตการเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีม่วง และสายสีแดงจะไม่มีปัญหาค่าแรกเข้า เหมือนกับสายสีเหลืองกับสายสีน้ำเงิน ซึ่งต้องรอหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เจรจากับเอกชนต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ย. 66)
Tags: กรมการขนส่งทางราง, รถไฟฟ้า, ไฮสปีดเทรน