นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงิน บาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.99 บาท/ดอลลาร์ ใกล้เคียงจากระดับปิดวันก่อนที่ 36.01 บาท/ดอลลาร์
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท มองว่าเงินบาทอาจแกว่งตัว sideway ใกล้ระดับ 36.00 บาท/ดอลลาร์ เนื่องตลาดต่างรอ ลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ เช่น อัตราเงินเฟ้อ (CPI) ทำให้ทั้งการอ่อนค่าและการแข็งค่าของเงินบาท ในช่วงก่อนตลาด รับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าวอาจเป็นไปอย่างจำกัด
ทั้งนี้ หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอลงตามคาด และออกมาสูงกว่าที่ตลาดประเมินไว้ ก็อาจทำให้ตลาดกลับ มากังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งผลให้เงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาส ปรับตัวขึ้นได้ไม่ยาก กดดันให้ราคาทองคำอาจปรับลงต่อ และทำให้เงินบาทมีโอกาสผันผวนในทางอ่อนค่า ทดสอบโซนแนวต้านระยะสั้น แถว 36.20-36.30 บาท/ดอลลาร์ได้
“ควรระวังความผันผวนในช่วงระหว่างวัน จากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังมีความไม่แน่นอน โฟลว์ธุรกรรมทองคำ และ ความผันผวนของเงินเยนญี่ปุ่น” นายพูน ระบุ
นายพูน คาดว่ากรอบเงินบาทวันนี้จะอยู่ที่ระดับ 35.90-36.10 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนที่ตลาดจะรับรู้รายงานอัตราเงิน เฟ้อสหรัฐ
ปัจจัยสำคัญ
– เงินเยนอยู่ที่ระดับ 151.73 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานที่ระดับ 151.74 เยน/ดอลลาร์
– เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0695 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานที่ระดับ 1.0690 ดอลลาร์/ยูโร
– อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 36.069 บาท/ดอลลาร์ – นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ระบุ วันนี้รัฐบาลจะมีการแถลงมาตรการแก้หนี้ของภาคประชาชน ครั้งใหญ่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้ดีขึ้นมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้
– กระทรวงการคลัง นัดหารือกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ในวันนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีข้อสรุปหลักเกณฑ์การจัดตั้ง ESG Fund ลักษณะการลงทุนระยะยาวคล้ายกับ LTF แต่เข้าจะลงทุนในหุ้น ESG โดยเชื่อว่าจะช่วยหนุนตลาดทุนในระยะยาว แต่ทั้งนี้ไม่ใช่การ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกองทุนพยุงหุ้น
– ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (13 พ. ย.) ก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันนี้ เพื่อประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง สหรัฐ (เฟด)
– สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (13 พ.ย.) โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 12.50 ดอลลาร์ หรือ 0.65% ปิดที่ 1,950.20 ดอลลาร์/ออนซ์
– นักลงทุนจับตาการรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนต.ค.ของสหรัฐฯ ในวันนี้ โดยดัชนี CPI เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อ จากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดัชนี CPI ทั่วไป จะเพิ่มขึ้น 3.3% ชะลอตัวลงจากเดือนก.ย. ที่ปรับตัวขึ้น 3.7% และคาดว่าดัชนี CPI พื้นฐาน จะปรับตัวขึ้น 4.1% ในเดือนต.ค. ทรงตัวจากเดือนก.ย.
– นักลงทุนยังจับตาสภาคองเกรสสหรัฐฯ ซึ่งกำลังเร่งผลักดันร่างกฎหมายงบประมาณ เพื่อช่วยให้หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐ สามารถหลีกเลี่ยงการปิดดำเนินงานหรือชัตดาวน์ ได้ทันกำหนดเส้นตายในวันศุกร์ที่ 17 พ.ย.นี้
– นักลงทุนจับตาท่าทีของทางการญี่ปุ่น หลังจากที่เงินเยนดิ่งลงแตะ 151.79 เยน/ดอลลาร์ ในวันจันทร์ (13 พ.ย.) ใกล้ ระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี ซึ่งการอ่อนค่าอย่างหนักของเงินเยนนี้ ทำให้มีการคาดการณ์ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นอาจเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อสกัดการดิ่ง ลงของเยน
– ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ที่จะมีการรายงานในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนต.ค., ยอดค้า ปลีกเดือนต.ค., ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนต.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, การผลิตภาคอุตสาหรรมเดือนต. ค., ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนพ.ย. และตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและอนุญาตก่อสร้างเดือนต.ค. เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ย. 66)
Tags: ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท