นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กรมควบคุมมลพิษ ได้คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง 7 วันข้างหน้า ระหว่าง วันที่ 9-12 พ.ย. 66 จะมีความเข้มข้นของฝุ่นละอองสูง ในระดับสีส้มเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นเดือนพ.ย. ยังมีโอกาสเกิดฝนตก และอาจส่งผลต่อค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ให้ลดลงได้
ดังนั้น กทม. จึงขอความร่วมมือประชาชนที่ต้องออกไปนอกบ้านควรสวมใส่หน้ากากอนามัย หากเป็นกลุ่มเปราะบางหรือสูงวัยไม่ควรออกจากบ้าน รวมถึงควรงดออกกำลังกายกลางแจ้งด้วย ซึ่งประชาชนกลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้มีโรคประจำตัว หากมีอาการ ไอ จาม มีน้ำมูก หายใจลำบาก หอบเหนื่อย มีผื่นแดงตามร่างกาย ตาแดง ให้รีบพบแพทย์
นายเอกวรัญญู กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าวกทม. โดยสำนักการแพทย์ ดำเนินการเปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่นละออง PM 2.5 เกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) โดยเปิดคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลสังกัด กทม. ดังนี้
- โรงพยาบาลกลาง โทร 02-2208000 ต่อ 10811 (วันอังคาร และวันศุกร์ เวลา 08.00-12.00 น.)
- โรงพยาบาลตากสิน โทร 02-4370123 ต่อ 1426, 1430 (วันจันทร์-วันศุกร์ ยกเว้นวันพุธและวันหยุดราชการ เวลา 09.00-12.00 น.)
- โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โทร 02-2897225 (วันพุธ เวลา 13.00-15.00 น.)
- โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โทร 02-4293576 ต่อ 8522 (วันพฤหัสบดี เวลา 08.00-12.00 น.)
- โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โทร 02-5432090 หรือ 084-2153278 (วันอังคาร เวลา 13.00-16.00 น.)
- โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โทร 02-3269995 (วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00-16.00 น.)
- โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โทร 063-32411216 หรือ 099- 1705879 (วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00-16.00 น.)
- โรงพยาบาลสิรินธร โทร 02-3286901 ต่อ 11434 (วันอังคาร เวลา 13.00-16.00 น.)
โดยคลินิกมลพิษทางอากาศ จะให้คำปรึกษาแก่ประชาชน และบริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กอีกด้วย
ส่วนความคืบหน้าการจัดทำห้องปลอดฝุ่นในโรงเรียนสังกัดกทม. ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน และโรงพยาบาลในสังกัดกทม. เพื่อสร้างความเข้มแข็งและดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง สำนักการแพทย์ ดำเนินการจัดห้องปลอดฝุ่น พัดลม และแผ่นกรองอากาศ เพื่อจัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่น (Safe Zone) ภายในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ของโรงพยาบาลในสังกัดฯ ทั้ง 11 แห่ง พร้อมแจกหน้ากากอนามัย และให้คำแนะนำในการป้องกัน ดูแลสุขภาพในช่วงฝุ่นหนาแน่น
สำหรับกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้งปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นและสังเกตอาการตนเอง
ทั้งนี้ หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่นๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่านทาง Telemedicine แอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว สามารถปรึกษาเรื่องสุขภาพ โทร HOTLINE 1646 สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ สำนักการแพทย์ ดำเนินการตามแนวทางและมาตรการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่สถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค 2 เพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 พร้อมส่งเสริมความรู้และเน้นย้ำวิธีป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยและผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ
โดยประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการให้ความรู้และเน้นย้ำข้อควรปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่รักษาความสะอาด เจ้าหน้าที่เก็บขนมูลฝอย รวมทั้งเจ้าหน้าที่กทม. ที่ต้องปฏิบัติงานกลางแจ้ง หรือมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสฝุ่นละออง PM 2.5 ในการดูแลสุขภาพและป้องกันตนเอง รวมทั้งการพิจารณาจัดหาหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละอองให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อใช้ป้องกันอันตรายจากการสัมผัสฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกายขณะปฏิบัติหน้าที่
นอกจากนี้ ดำเนินการในเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ สำนักงานเขต สถานีตำรวจนครบาล โรงเรียน ให้ความรู้ ข้อแนะนำแก่ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะเน้นการเข้าถึงกลุ่มเปราะบางในพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ รวมถึงการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง พร้อมแจกหน้ากากอนามัยให้กับกลุ่มเปราะบางในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูง รายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละออง ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง เพื่อปฏิบัติการออกช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็น หากมีการรายงานค่าฝุ่นในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ทั้งนี้ กทม. จะแจ้งเตือนรวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน ผ่านทางแอปพลิเคชัน AirBKK www.airbkk.com www.pr-bangkok.com เฟซบุ๊กเพจสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เฟซบุ๊กเพจกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม และเฟซบุ๊กเพจ กรุงเทพมหานคร รวมถึง LINE ALERT และ LINE OA @airbangkok กรณีประชาชนพบเห็นแหล่งกำเนิดมลพิษสามารถแจ้งเบาะแส ผ่านทาง Traffy Fondue
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ย. 66)
Tags: PM2.5, ฝุ่น PM2.5, เอกวรัญญู อัมระปาล