“สุริยะ” บินร่วมคณะนายกฯประชุมเอเปกเล็งส่งเทียบเชิญ 20 เอกชนสหรัฐร่วมแผนลงทุนแลนด์บริดจ์

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เตรียมพร้อมร่วมเดินทางกับคณะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เพื่อไปในการประชุมสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิกหรือเอเปค (APEC) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในวันที่ 11 พ.ย.นี้ ซึ่งกระทรวงคมนาคม ได้เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย -อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือแลนด์บริดจ์พร้อมสมบูรณ์แล้ว ซึ่งเชื่อว่านักลงทุนจะได้รับทราบถึงผลประโยชน์ที่จะได้จากโครงการนี้ และตอนนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา และอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ก็ช่วยกันที่จะชักชวนบริษัทในสหรัฐฯ เกือบ 20 บริษัท

“ที่ผ่านมาโครงการนี้มีนักลงทุนจากหลากหลายประเทศให้ความสนใจ ทั้งฝรั่งเศส, ตะวันออกกลาง, จีน ส่วนในอเมริกาเริ่มส่งข้อมูลไปแล้ว เชื่อว่าโครงการนี้นักลงทุนจะได้ผลตอบแทนที่ดีแน่นอน” นายสุริยะกล่าว

นอกจากนี้ รมว.คมนาคม ได้ให้ H.E. Mr. Ernst Wolfgang Reichel เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทยและคณะเข้าพบ เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่ง ได้แก่

  1. ความร่วมมือด้านระบบรางภายใต้แถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนง (JDI) ว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงดิจิทัลและคมนาคมแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้มีการดำเนินการร่วมกัน เช่น การจัดตั้งสมาคมระบบรางเยอรมัน-ไทย (German-Thai Railway Association: GTRA) เพื่อเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนความรู้ การพัฒนาบุคลากรและการวิจัยต่าง ๆ รวมทั้งขับเคลื่อนความร่วมมือด้านระบบรางให้มีความยังยืนและเป็นรูปธรรม ความร่วมมือทางวิชาการ โดยมีการจัดตั้งหลักสูตรปริญญาโทร่วม ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สาขาวิศวกรรมระบบรางและโครงสร้างพื้นฐาน โดยความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับมหาวิทยาลัย RWTH-Aachen แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและ TU-Dresden ความร่วมมือระหว่างบริษัทสัญชาติเยอรมันในไทยและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากร โดยมีภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการด้านรถไฟฟ้า และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
  2. โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่งและการขนส่งอย่างยั่งยืนอีกหลายโครงการ ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีกรอบแนวทางพัฒนาด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น Green Transport เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และ PM 2.5 โดยเน้นย้ำให้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกในระบบการเดินทางและขนส่งทั้งในรถโดยสารสาธารณะ รถไฟ เรือโดยสารและระบบการขนส่งต่าง ๆ รวมทั้งการบูรณาการ ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการจราจร

นอกจากนี้ในการหารือได้มีการนำเสนอถึงโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย – อันดามัน (ชุมพร – ระนอง) หรือที่เรียกกันว่า โครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้านคมนาคมขนส่งในทุกมิติ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ย. 66)

Tags: , , , ,