น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ว่า การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจากผลกระทบการล็อกดาวน์ในรอบล่าสุดที่เริ่มมีผลวันที่ 12 ก.ค. 64 นั้น ยอมรับว่าเมื่อมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากกว่าที่คาดไว้ ซึ่ง ธปท.จะประเมินผลกระทบอย่างใกล้ชิด โดยขอรอดูผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจริงก่อน เพราะมาตรการดังกล่าวเพิ่งมีผลบังคับใช้วันนี้
“ที่ประชุม กนง.ได้มองภาพเศรษฐกิจในเดือนมิ.ย.ไว้ โดย price in การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าไว้แล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะมีผลประมาณหนึ่งต่อเศรษฐกิจ…เมื่อมีล็อกดาวน์ ก็อาจจะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากกว่าที่คาด ธปท.จะประเมินผลอย่างใกล้ชิด รอดูผลกระทบจริงที่จะเกิดขึ้นก่อน”
น.ส.ชญาวดี ระบุ
โดยความเสี่ยงสำคัญต่อประมาณการเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ได้แก่ การระบาดที่อาจรุนแรงขึ้น และการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด, ความต่อเนื่องของแรงกระตุ้นทางการคลัง, ปัญหาฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจที่อาจนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงาน รวมทั้งปัญหา Supply disruption ที่อาจรุนแรงกว่าคาด
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุดเมื่อเดือนมิ.ย. 64 กนง.ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 1.8% จากเดิมที่คาดไว้ 3.0% ในเดือนมี.ค. โดยเหตุผลสำคัญมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสามที่มีความรุนแรงและกระจายในวงกว้าง ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศถูกกระทบจากการระบาดในระลอกสาม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาน้อยกว่าที่คาด จากการระบาดที่รุนแรงทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 7 แสนคน จากประมาณการเดิม 3 ล้านคน
แต่ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยด้านบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ แผนการจัดหาและกระจายวัคซีนที่มีความคืบหน้าตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ คือ 100 ล้านโดสในปีนี้, แรงกระตุ้นทางการคลังที่เพิ่มมากขึ้น, การส่งออกที่ปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงมีปัจจัยเพิ่มเติมจากการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทฉบับใหม่ ที่จะเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจได้
“จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท คาดว่าปีนี้คงเบิกใช้ราว 1 แสนล้านบาท เพราะยังมีของเดิมที่ยังเหลืออยู่ ส่วนปีหน้าคาดว่าจะเบิกใช้อีก 2 แสนล้านบาท แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากกรณีฐาน ก็มีโอกาสที่ พ.ร.ก.จะถูกเบิกใช้ได้มากถึง 5 แสนล้านบาท”
น.ส.ชญาวดี ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ค. 64)
Tags: กนง., คณะกรรมการนโยบายการเงิน, ชญาวดี ชัยอนันต์, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., พ.ร.ก.กู้เงิน, ล็อกดาวน์, เศรษฐกิจไทย