บรรดาผู้สังเกตการณ์ในตลาดต่างก็จับตาสถานการณ์ของช่องแคบฮอร์มุซ (Strait of Hormuz) อย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่อิสราเอลประกาศทำสงครามกับกลุ่มฮามาสตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยขณะนี้สงครามของทั้งสองฝ่ายย่างเข้าสู่ขั้นที่ 2 และทำให้เกิดความกังวลว่าความขัดแย้งอาจจะลุกลามเป็นวงกว้างในตะวันออกกลาง
ทั้งนี้ ช่องแคบฮอร์มุซเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันที่สำคัญที่สุดในโลก และกำลังถูกจับตาอย่างใกล้ชิดว่าจะได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งครั้งนี้หรือไม่ โดยข้อมูลจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐ (EIA) ระบุว่า ช่องแคบฮอร์มุซซึ่งคั่นกลางระหว่างประเทศโอมานและอิหร่านนั้น ถูกใช้เป็นช่องทางขนส่งน้ำมันในอัตราส่วน 1 ใน 5 ของปริมาณการผลิตน้ำมันทั่วโลกในแต่ละวัน นอกจากนี้ ยังเป็นเส้นทางน้ำที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อระหว่างกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบในตะวันออกกลางกับตลาดที่สำคัญทั่วโลก
เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มฮามาสซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์ได้เปิดฉากโจมตีอิสราเอลทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ส่งผลให้ประชาชนในอิสราเอลเสียชีวิตกว่า 1,400 ราย ขณะที่อิสราเอลตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศและภาคพื้นดินในฉนวนกาซา และนับจนถึงขณะนี้มีประชาชนในกาซาเสียชีวิตกว่า 9,000 ราย
ความเสี่ยงที่สงครามครั้งนี้จะลุกลามเป็นวงกว้างยังคงมีอยู่ โดยสหรัฐได้ส่งยุทโธปกรณ์ทางทหารเข้าประจำการในภูมิภาคแห่งนี้เพื่อสนับสนุนอิสราเอลที่กำลังต่อสู้เพื่อป้องกันตนเองจากกลุ่มติดอาวุธในเลบานอนและลิเบียที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน
แบงก์ ออฟ อเมริกาคาดการณ์ว่า หากอิสราเอลใช้ปฏิบัติการตอบโต้อิหร่านก็อาจทำให้ช่องแคบฮอร์มุซมีความเสี่ยงที่จะถูกปิด และอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูงกว่าระดับ 250 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยอิหร่านเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ และกลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านให้การสนับสนุนได้แก่กลุ่มฮามาสและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (30 ต.ค.) ธนาคารโลกออกรายงานเตือนว่า สถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางอาจจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันและทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น
ธนาคารโลกได้ประเมินผลกระทบออกเป็น 3 ฉากทัศน์ด้วยกัน โดยระบุว่า หากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางมีผลกระทบเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกหายไปประมาณ 500,000 บาร์เรล-2 ล้านบาร์เรล/วัน และจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นแตะระดับ 93-102 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนฉากทัศน์ที่ 2 นั้น หากสถานการณ์ตึงเครียดลุกลามเป็นวงกว้าง ก็จะทำให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกหายไปประมาณ 3-5 ล้านบาร์เรล/วัน และจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นแตะระดับสูงถึง 121 ดอลลาร์/บาร์เรล
สำหรับฉากทัศน์ที่ 3 ซึ่งถือเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุดนั้น หากสถานการณ์ในตะวันออกกลางรุนแรงจนส่งผลให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกหายไปเป็นจำนวนมากถึง 6-8 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นผลกระทบที่รุนแรงเทียบเท่ากับเมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์คว่ำบาตรน้ำมันของชาติอาหรับในปี 1973 สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นแตะระดับ 157 ดอลลาร์/บาร์เรล
ทั้งนี้ โลกเคยเผชิญวิกฤตพลังงานในช่วงทศวรรษที่ 1970 ซึ่งส่งผลให้หลายประเทศบังคับใช้มาตรการเพื่อป้องกันความผันผวนของราคาน้ำมัน ด้วยการลดการพึ่งพาน้ำมัน และหันไปหาแหล่งพลังงานทางเลือกอื่น ๆ รวมทั้งจัดตั้งคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserves – SPR)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ย. 66)
Tags: Strait of Hormuz, ขนส่งน้ำมัน, ช่องแคบฮอร์มุซ, ตะวันออกกลาง, อิสราเอล, อิหร่าน, ฮามาส, โอมาน