บวท.ชี้วีซ่าฟรีหนุนเที่ยวบินปี 67 เพิ่ม 20-30% “สุรพงษ์” สั่งศึกษา Sea Plane รับนทท.กระเป๋าหนัก

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานให้แก่ผู้บริหาร บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ว่า ได้มอบนโยบายให้บวท. เตรียมความพร้อมการจัดจราจรทางอากาศรองรับเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นในอนาคต หลังคาดว่าปริมาณเที่ยวบินในปี 2567 จะเพิ่มขึ้น 20-30% หรืออยู่ที่ ประมาณ 1.3 ล้านเที่ยวบิน ซึ่งเป็นผลจากนโยบายรัฐบาลเรื่องการท่องเที่ยว และนโยบายวีซ่าฟรี ให้ประเทศอินเดีย และไต้หวัน สามารถเดินทางเข้ามาเที่ยวเมืองไทยได้ 30 วัน เริ่มตั้งแต่ 10 พ.ย.66 จนถึง 10 พ.ค.67 คาดว่าจะทำให้ชาวอินเดียเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้น 9 แสนคน และชาวไต้หวัน 4 แสนคน

ทั้งนี้ บวท. รายงานปริมาณเที่ยวบินรวมปีงบประมาณ 66 (1ต.ค. 65-30 ก.ย. 66) จำนวน 7.2 แสนเที่ยวบิน โดยหากดูเฉพาะช่วงตั้งแต่ ม.ค.-ธ.ค. 66 จะมีรวม 1 ล้านเที่ยวบิน ซึ่งใกล้กับปี 62 ก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีเที่ยวบินรวม 1-1.2 ล้านเที่ยวบิน

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ บวท. แจ้งว่า มีบริษัทเอกชนบางรายสนใจทำธุรกิจให้บริการเครื่องบินทะเล (Sea Plane) โดยอยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตประกอบการกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) หรือ CAAT แล้ว อาทิ บริษัท สยาม ซีเพลน จำกัด โดยมีแผนจะเปิดให้บริการสู่เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล

ดังนั้นจึงให้ บวท.ศึกษาการให้บริการเครื่องบินทะเลในรายละเอียดข้อกฎหมาย ระเบียบต่างๆ เช่น เส้นทางการบิน รวมถึงรูปแบบการดำเนินงานในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 66 เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการความเป็นส่วนตัวและมีกำลังจ่ายสูง(พรีเมียม) รวมถึงช่วยลดความแออัดภายในสนามบิน โดยเบื้องต้นจะเป็นการให้บริการเส้นทางภายในประเทศจากเมืองสู่เกาะ และเชื่อว่า ธุรกิจบริการเครื่องบินทะเลจะเติบโต และมีความต้องการของนักท่องเที่ยวเพิ่มในอนาคต

ด้านนายณพศิษฎ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. กล่าวว่า วิทยุการบินฯ พร้อมดำเนินการเพื่อสนับสนุนนโยบาย โดยมุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับของสนามบิน เพื่อบริการประชาชนให้สามารถเดินทางได้รวดเร็วและปลอดภัย โดยได้ทำการวิเคราะห์ความสามารถสูงสุดในการรองรับอากาศยานของสนามบินแบบจำลอง Fast-time Simulation และใช้ 3D Simulator ในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศให้สามารถปฏิบัติงานสำหรับทางวิ่งที่มีความหนาแน่นสูงสุด (High Intensity Runway Operation)

ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการรองรับของสนามบินสุวรรณภูมิเพิ่มขึ้นจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 และ 104 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เมื่อทางวิ่งเส้นที่ 3 แล้วเสร็จ สนามบินดอนเมือง จาก 50 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้นเป็น 57 เที่ยวบินต่อชั่วโมง สนามบินภูเก็ต จาก 20 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้นเป็น 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

พร้อมกันนี้ มีแผนจะนำเทคโนโลยี Digital Tower มาใช้เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน ในขณะเดียวกัน ได้เตรียมความพร้อมให้บริการการเดินอากาศ ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา รวมทั้งออกแบบห้วงอากาศและเส้นทางบินตามโครงการ METROPLEX ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินอากาศที่สามารถรองรับเที่ยวบินได้ 1.5 – 2 ล้านเที่ยวบินในอนาคต นอกจากนี้ วิทยุการบินฯ ได้ร่วมมือกับจีนและลาวในการจัดทำเส้นทางบินใหม่ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอีกด้วย

สำหรับการเปิดให้บริการสนามบินเชียงใหม่ ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 66 ที่ผ่านมานั้น ไม่มีปัญหาในการจัดจราจรทางอากาศโดย ที่ผ่านมา บวท. มีการทำงานตลอด 24 ชม.อยู่แล้ว โดยมีการจัดสรรอัตรากำลังเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับการให้บริการและพร้อมที่จะจัดจราจรทางอากาศในสนามบินอื่นหากจะมีนโยบายเปิดให้บริการ 24 ชม. เพิ่มเติม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ย. 66)

Tags: , , , , , ,