ดีลอยท์ ระบุองค์กรในไทยใช้แนวทางปรับสู่ดิจิทัลได้เหมาะสมขึ้น เน้นเทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูล

ดีลอยท์ ประเทศไทย เผยผลสำรวจการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของประเทศไทย ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับมุมมองและแนวโน้มการใช้งานดิจิทัลขององค์กรธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทย

การสำรวจการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในประเทศไทย (Thailand Digital Transformation Survey) เป็นการสำรวจที่ดีลอยท์ประเทศไทย ให้ความสำคัญและทำการศึกษาอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่สี่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทัศนคติขององค์กรต่อการปรับตัวสู่ดิจิทัล (Digital transformation) ผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนแนวคิดและมุมมองของผู้บริหารระดับสูง (C-suite) และพนักงานระดับอื่นๆ ในห้ากลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมผู้บริโภค (Consumer) กลุ่มทรัพยากรพลังงานและอุตสาหกรรม (Energy Resources and & Industrials: ER&I) บริการการเงิน (Financial Services) ชีววิทยาศาสตร์และสุขภาพ (Life Science & Healthcare) และเทคโนโลยี สื่อ และ โทรคมนาคม (Technology, Media and Telecommunications: TMT) ผลการสำรวจในปีนี้สะท้อนถึงพัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลภายใต้ 3 หัวข้อหลัก ดังนี้

  1. การสำรวจยุคของดิจิทัล ดิสรัปชั่น
  2. การปลดล็อกความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล
  3. ภาพรวมอุตสาหกรรม

ตลอดช่วงเวลาในปี 2564-2566 ทัศนคติต่อผลกระทบของ ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับปานกลาง โดยธุรกิจสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทกว้าง ๆ ตามการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงาน ได้แก่

  • ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลักในการดำเนินงาน: ธุรกิจเหล่านี้มีการดำเนินงานโดยใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก มองว่าได้รับผลกระทบจาก ดิจิทัล ดิสรัปชัน น้อยกว่า เนื่องจากการดำเนินงานของธุรกิจเหล่านี้จำเป็นต้องติดตามและปรับตัวต่อการเปลี่ยนของนวัตกรรมดิจิทัลเป็นปกติอยู่เสมอ
  • ธุรกิจแบบดั้งเดิม หรือไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก: ธุรกิจเหล่านี้มักจะนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างจำกัด โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลการปรับปรุงกลไกภายในองค์กรเพื่อให้สามารถรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคธุรกิจได้

เมื่อพิจารณาในเชิงการวิเคราะห์การนำเทคโนโลยีดิจิทัลในแต่ละปี พบว่า ข้อมูลแต่ละปีแตกต่างกัน ในช่วงปี 2564-2566จากรายงานการสำรวจ ปี 2564 พบว่า องค์กรมีการปรับตัวสู่ดิจิทัลอย่างรวดเร็วในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระยะแรก อย่างไรก็ตาม การขาดประสบการณ์และการดำเนินการปรับตัวสู่ดิจิทัลอย่างรวดเร็วนี้ทำให้ผลลัพธ์ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังในหลายธุรกิจ จากประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ในปีที่ผ่านมาทำให้ร้อยละ 43 ของบริษัทยังคงอยู่ในระยะ “Doing Digital” เนื่องจากพวกเขาได้ปรับตัวเชิงกลยุทธ์และเลือกใช้แนวทางที่เหมาะกับองค์กรของตนมากขึ้น ส่งผลให้การปรับตัวสู่ดิจิทัลประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นในปี 2565-2566 จากการสั่งสมประสบการณ์และการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมมากขึ้น

เมื่อพิจารณาข้อมูลเชิงลึกในด้านธุรกิจ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ใช้แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือและเว็บไซต์ในการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า โดยแอปพลิเคชันแชทและระบบส่งข้อความ (Instant Messaging) เป็นเครื่องมือการสื่อสารที่ได้รับความนิยม กลุ่มผู้ค้ามีแนวโน้มที่จะปรับโมเดลธุรกิจและเสริมทักษะในการเข้าใจลูกค้า ในขณะที่กลุ่มผู้ให้บริการ เน้นวิธีการให้บริการที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ และการพัฒนาระบบนิเวศทางดิจิทัล

เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรม ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยี สื่อและโทรคมนาคม (TMT) และกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องแข่งขันเพื่อส่วนแบ่งในตลาด ประสบความสำเร็จในการปรับตัวสู่ดิจิทัลได้ดีกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2565 และ 2566 พบว่า องค์กรมีความสนใจที่จะลงทุนในเทคโนโลยีเป็นจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล

นายนเรนทร์ ชุติจิรวงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร Clients & Markets ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวว่า “เมื่อองค์กรมีขนาดใหญ่ขึ้น องค์กรมักจะใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายมากขึ้น โดยส่วนใหญ่เนื่องจากองค์กรขนาดใหญ่มีงบประมาณและความซับซ้อนในการบริหารจัดการภายในองค์กรสูงกว่าองค์กรขนาดเล็ก อย่างไรก็ตาม ทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่ มีการนำเทคโนโลยีด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”

การลดต้นทุนและเพิ่มผลิตภาพ เป็นผลสำเร็จสองอันดับแรกในการปรับองค์กรสู่ดิจิทัล อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้บริหารระดับสูงและพนักงานในระดับอื่นๆ มีมุมมองที่ต่างกันผลสำเร็จอันดับที่สาม โดยกลุ่มผู้บริหารระดับสูง มองว่า ความเสี่ยงในด้านการดำเนินการที่ลดลง เป็นอันดับที่สาม ในขณะที่พนักงานในระดับอื่นๆ มองว่าเป็นการยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า เนื่องจากพวกเขาอาจมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าได้อย่างใกล้ชิดมากกว่า

เมื่อพิจาณาในส่วนความท้าทาย ร้อยละ 60 ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าความสามารถของบุคลากรยังเป็นความท้าทายอันดับแรก โดยมีประเด็นด้านงบประมาณและทรัพยากรที่ไม่เพียงพอ และวัฒนธรรมองค์กรแบบดิจิทัลที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ เป็นความท้าทายในอันดับรองลงมา ที่ร้อยละ 57 และ 47 ตามลำดับ ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำภายหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ดำเนินการปรับองค์กรสู่ดิจิทัล ทั้งนี้ มีแนวโน้มที่จะนำโซลูชั่นมาใช้ในอนาคต เช่น การเปิดใช้ระบบไอทีผ่านแพลตฟอร์มในคลาวด์ ที่ให้บริการโดยหน่วยงานภายนอกเพื่อช่วยลดต้นทุน นอกจากนี้ การบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ยังเป็นความท้าทายอีกประเด็นหนึ่ง เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูลอีกด้วย

นายโกบินทร์ รัตติวรากร ผู้อำนวยการบริหาร ดีลอย์ คอนซัลติ้ง กล่าวว่า “ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าองค์กรที่มีความก้าวหน้าในดำเนินการปรับตัวสู่ดิจิทัล สามารถจัดการกับความท้าทายในด้านทรัพยากรได้ดีขึ้น พวกเขาจึงมุ่งให้ความสนใจกับการจัดการความท้าทายเกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล”

การปรับองค์กรสู่ดิจิทัล นับเป็นกระบวนการที่ยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ภาคธุรกิจจำต้องเปิดรับนวัตกรรมใหม่ๆ และปรับตัวให้เท่าทันกับเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ช่วงเวลานี้จึงเป็นเวลาเหมาะสมที่องค์กรต่างๆ จะเปิดรับโอกาสใหม่ๆ เพื่อเปิดทางไปสู่อนาคตที่ดีต่อธุรกิจมากยิ่งขึ้น และการปรับองค์กรสู่ดิจิทัลเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญ ระหว่างธุรกิจในปัจจุบันและธุรกิจแห่งอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ย. 66)

Tags: , ,