ETL ปิดเทรดวันแรก 1.30 บาทต่ำจอง 22.62% โบรกฯให้เป้า 1.85 บาท

ETL ปิดเทรดวันแรกที่ 1.30 บาท ลดลง 0.38 บาท (-22.62%) มูลค่าการซื้อขาย 153.54 ล้านบาท จากราคา IPO 1.68 บาท โดยราคาเปิดที่ 1.35 บาท ราคาสูงสุด 1.43 บาท ราคาต่ำสุด 1.30 บาท

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บมจ.ยูโรเอเชีย โทเทิล โลจิสติกส์ (ETL) จากการประเมินมูลค่าเบื้องต้นด้วย PER เฉลี่ยของผู้ประกอบธุรกิจใกล้เคียงกันที่ 18.04 เท่า ได้มูลค่าเหมาะสม 1.85 บาท

ETL ประกอบธุรกิจถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน (Cross-Border Transportation Carrier) ระหว่างประเทศไทยและประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไทย ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์) ฮ่องกง และจีนที่มีการเชื่อมต่อพรมแดนทางถนนและรางรถไฟ รวมถึงการขนส่งสินค้าบนเส้นทางที่เชื่อมไปยังทวีปยุโรป โดยบริษัทมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัทบริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) (WICE) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดย ETL ให้บริการขนส่งสินค้าผ่านตู้คอนเทนเนอร์ เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์โซลาร์เซลล์

บล.ทิสโก้ เห็นว่า ธุรกิจผู้ให้บริการขนส่งสินค้ามีผู้ประกอบการและผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมากในตลาด เช่น ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ผู้ประกอบธุรกิจขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ซึ่งมีการขยายธุรกิจครอบคลุมในส่วนของการให้บริการขนส่งสินค้าทางถนนและทางรางด้วย ทำให้ธุรกิจนี้มีการแข่งขันสูง ขณะเดียวกัน บริษัทมีความได้เปรียบจากเครือข่ายและเส้นทางการให้บริการที่ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นในส่วนทางบกของบริษัทเองที่มีบริษัทย่อยและบริษัทร่วมเป็นผู้ดูแลประสานงาน มีศูนย์รวมสินค้า (Hub) ตั้งอยู่ในเส้นทางประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และจีน

นอกจากนี้บริษัทแม่เป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศและทางน้ำ โดยในปี 2564 บริษัทพัฒนาการให้บริการขนส่งสินค้ารูปแบบใหม่ผ่านทางรถไฟลาว-จีน เพื่อความรวดเร็วในการขนส่งให้กับลูกค้าและเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยลดปัญหาการจราจรที่หนาแน่นของปริมาณสินค้าหน้าด่านศุลกากร ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ดังนั้นการระดมตามวัตถุประสงค์เพื่อขยายและสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจจึงมีความเหมาะสม

ในระยะสั้น คาดว่ารายได้ชะลอตัว จากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ความต้องการสินค้าหดตัวลง ทำให้อุปสงค์การขนส่งสินค้าลดลงตามไปด้วย ซึ่งใน 1H66 ประเทศไทยมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ -2.91% YoY อย่างไรก็ตามค่าระวางเรือที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น จะช่วยหนุนอุปสงค์การขนส่งทางบก ขณะที่ระยะยาว รายได้จะเติบโตต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าที่ดีขึ้น รวมทั้งการขยายฐานลูกค้าและการให้บริการเพิ่มเติม ซึ่งบริษัทมีแผนในการขยายฐานลูกค้าไปยังกัมพูชา และขยายเส้นทางให้บริการไปประเทศอื่นในเอเชียและยุโรป

อัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิในปี 66 ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากบริษัทบริหารจัดการต้นทุนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีมาตรการจัดการและบริหารรถเที่ยวเปล่าที่ดีขึ้น ทำให้ต้นทุนการให้บริการลดลง ซึ่งต้นทุนดังกล่าวเป็นต้นทุนหลักของบริษัท ประกอบกับค่าใช้จ่ายที่ลดลงช่วยหนุนอัตรากำไรในระยะสั้น ขณะที่ระยะยาว หากบริษัทสามารถควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง รวมทั้งรายได้เติบโตขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่กลับมาขยายตัวได้ดี อัตรากำไรจะขยายตัวขึ้นในอนาคต

ปัจจัยที่ต้องติดตามต่อ 1) การดำรงอัตราส่วนทางการเงิน 2) โครงการ One belt, One road ของจีน

ความเสี่ยง 1) การแข่งขันที่สูง 2) ต้นทุนราคาน้ำมัน 3) ต้นทุนค่าขนส่งประเภทต่างๆ 4) ภาวะเศรษฐกิจโลก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 พ.ย. 66)

Tags: , ,