SCL ปิดเทรดวันแรกที่ 1.37 บาท ต่ำจอง 11.04% โบรกฯให้เป้า 1.76 บาท

SCL ปิดเทรดวันแรกที่ 1.37 บาท ลดลง 0.17 บาท (-11.04%) มูลค่าซื้อขาย 398.61 ล้านบาท จากราคา IPO 1.54 บาท โดยราคาเปิดที่ 1.60 บาท ราคาสูงสุด 1.66 บาท ราคาต่ำสุด 1.32 บาท

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บมจ.เอส.ซี.แอล.มอเตอร์ พาร์ท (SCL) จากการประเมินมูลค่าเบื้องต้นด้วยวิธี PER ผู้จัดจำหน่ายอะไหล่รถยนต์ทั้งใน SET และ MAI ที่ 18 เท่า ได้มูลค่าเหมาะสมเบื้องต้นราว 1.76 บาท

SCL ผู้จัดจำหน่ายอะไหล่รถยนต์แบบครบวงจร ทั้งผลิตภัณฑ์อะไหล่รถยนต์ภายใต้ตราสินค้าของค่ายรถยนต์ เช่น ISUZU, MITSUBISHI, TOYOTA, HONDA, FUSO, FORD, NISSAN และ CHEVROLET และอะไหล่ทดแทนที่ได้มาตรฐานของผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ที่ได้รับการยอมรับ เช่น AISIN, KAYABA, EXEDY, DENSO และ TOKICO รวมถึงผลิตภัณฑ์อะไหล่แท้ของกลุ่มรถบรรทุกหัวลาก เช่น FUSO และ HINO ซึ่งบริษัทมีการจำหน่ายอะไหล่ในหลายค่ายรถยนต์ที่ได้รับความนิยมในประเทศ รวมทั้งเป็นผู้จัดจำหน่ายให้ ISUZU มายาวนานกว่า 50 ปี โดยผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ที่จัดจำหน่ายมีความหลากหลายมากกว่า 167,000 รายการ ครอบคลุมผลิตภัณฑ์อะไหล่ในทุกระบบที่สำคัญของรถยนต์ และได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามากกว่า 1,600 รายครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทย

บล.ทิสโก้ เห็นว่า อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์มีการแข่งขันที่สูง มีผู้ประกอบการจำนวนมาก รวมทั้งอาจต้องใช้กลยุทธ์ในด้านราคาเพื่อชิงส่วนแบ่งทางการตลาดและเพิ่มรายได้ ขณะที่สินค้าที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ โดยสินค้าอะไหล่ทดแทนมีตัวเลือกที่มีความหลากหลายทั้งคุณภาพและราคา ซึ่งบริษัทมีจุดแข็งในการจัดจำหน่ายสินค้าทั้งของค่ายรถยนต์และอะไหล่ทดแทน พร้อมกับได้รับความไว้วางใจและการยอมรับทั้งจากค่ายรถยนต์ที่เชื่อมั่นในบริษัทจนแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ และลูกค้าธุรกิจที่ซื้อผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่มั่นใจในคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์อะไหล่รถยนต์ของบริษัทภายใต้สโลแกน “ถูกทุกชิ้น แท้ทุกส่วน” รวมทั้งการจัดส่งสินค้าที่รวดเร็วทั่วประเทศไทย

ในช่วง 1-2 ปี บริษัทมีแผนขยายคลังสินค้าเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถจัดเก็บสินค้าเตรียมความพร้อมได้การจัดจำหน่ายได้มากขึ้น ดังนั้นการระดมทุนในครั้งนี้จึงมีความเหมาะสม แต่มีปัจจัยที่ต้องติดตามต่อในด้านการชำระเงินกู้ยืม

ระยะสั้นมองว่า รายได้จะทยอยฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ ปริมาณรถยนต์สะสมที่เพิ่มขึ้น และจำนวนรถที่อายุมากกว่า 5 ปีมีจำนวนมากขึ้น เป็นผลดีต่อความต้องการใช้อะไหล่รถยนต์ โดยสัดส่วนรายได้หลักของบริษัทมาจากการจำหน่ายอะไหล่รถยนต์ภายใต้ตราสินค้าของค่ายรถยนต์ ขณะเดียวกันการจำหน่ายอะไหล่ทดแทนเริ่มเพิ่มมากขึ้น (+19.02% YoY) จากการขยายตลาดของลูกค้าในกลุ่มศูนย์บริการรถยนต์ทั่วไปประเภทเร่งด่วน (Fastfit) ขณะที่ระยะยาวต้องติดตามการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งในส่วนของรถยนต์บุคคลและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ โดยเฉพาะในรถกระบะและรถบรรทุก ซึ่งส่งผลโดยตรงกับรายได้ของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ

บริษัทมีนโยบายในการเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นผ่านการจำหน่ายชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ทดแทนมากยิ่งขึ้น รวมถึงการขยายขอบเขตของกลุ่มผลิตภัณฑ์ไปยังชิ้นส่วนอะไหล่ของยานพาหนะชนิดอื่น ซึ่งจะส่งผลดีต่ออัตรากำไรของบริษัทในระยะยาว โดยปี 2566 บริษัทได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์อะไหล่รถเพื่อการเกษตรของ CLAAS ในประเทศไทยจาก CLAAS Global Sales GmbH ประเทศเยอรมนี จึงมองว่าในระยะยาวอัตรากำไรของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นได้ จากการเพิ่ม Portfolio ไปยังผลิตภัณฑ์อื่นมากขึ้น แต่ต้องติดตามเรื่องการเปลี่ยนแปลงสู่รถยนต์ไฟฟ้าด้วย ส่วนระยะสั้นอัตรากำไรจะถูกกดดันจากต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่สูงขึ้น จากการทำโปรโมชั่นและค่าใช้จ่ายพนักงานที่เพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนยอดขาย

ปัจจัยที่ต้องติดตามต่อ : 1) การปรับตัวของบริษัทสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า 2) การชำระหนี้ของบริษัท

ความเสี่ยง : 1) การแข่งขันที่รุนแรง 2) การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า 3) การพึ่งพิงผลิตภัณฑ์อะไหล่ของ ISUZU

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 พ.ย. 66)

Tags: , ,