นบข. รับทราบสถานการณ์ข้าวไทย คาดผลผลิตลดลง ดันราคาขยับขึ้น-ส่งออกตามเป้า

น.สพ.ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2566 ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานว่า ที่ประชุมรับทราบคาดการณ์ผลผลิตข้าว ปีการผลิต 2566/67 โดยผลผลิตมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากไทยได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ ทำให้ปริมาณน้ำฝนมีน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้บางพื้นที่สามารถปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว และผลผลิตต่อไร่มีแนวโน้มลดลง

– ภาพรวม ผลผลิต 32.35 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลง จากปีก่อน 2.08 ล้านตันข้าวเปลือก (-6%)

– นาปี ผลผลิต 25.57 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลง จากปีก่อน 1.14 ล้านตันข้าวเปลือก (-4%)

– นาปรัง ผลผลิต 6.78 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลง จากปีก่อน 0.94 ล้านตันข้าวเปลือก (-12%)

ขณะที่ราคาข้าวไทย เมื่อเทียบกับปีก่อน ราคาข้าวเปลือกทุกชนิดปรับตัวเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 24%

– ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 14,800-16,000 บาท เฉลี่ยตันละ 15,400 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ที่ตันละ 13,599 บาท (+13%)

– ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 12,500-13,000 บาท เฉลี่ยตันละ 12,750 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ที่ตันละ 10,687 บาท (+19%)

– ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 11,300-11,800 บาท เฉลี่ยตันละ 11,400 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ที่ตันละ 8,984 บาท (+27%)

– ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,500-14,800 บาท เฉลี่ยตันละ 13,800 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ที่ตันละ 9,968 บาท (+37%)

แนวโน้มสถานการณ์ข้าวไทย ราคาข้าวไทยมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง โดยปัจจัยบวก

– การบริโภคข้าวในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังฟื้นตัว ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

– การส่งออกข้าวไทยมีแนวโน้มเป็นไปตามเป้าหมาย 8 ล้านตัน จาก

– อินเดียมีมาตรการห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติ ส่งผลให้ข้าวไทยเป็นที่ต้องการในตลาดมากขึ้น

– ค่าเงินบาทอ่อนค่า ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก

– ตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร

ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่

– ปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งจะทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง และอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตข้าวที่จะออกสู่ตลาด

– สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่อาจจะมีกำลังซื้อลดลงจากปัญหาเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ ที่ประชุม นบข. มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจำนวน 3 คณะ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของ นบข. ประกอบด้วย

1. คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่เสนอแนวทาง แผนงาน โครงการและมาตรการในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาด้านการผลิตข้าวและชาวนาที่เหมาะสมต่อ นบข. เพื่อให้ เกิดผลดีต่อการพัฒนาระบบการผลิตข้าวโดยรวมของประเทศ รวมทั้งประสาน ติดตาม กำกับดูแลการดำเนินการตามแผนงานโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

2. คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่เสนอแผนงาน โครงการ มาตรการ และแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับการตลาดข้าวที่เหมาะสมต่อ นบข. เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเกิดผลดี ต่อระบบการค้าข้าวโดยรวม เสนอแนวทางในการส่งเสริมการศึกษาวิจัยการตลาดข้าวที่เหมาะสม ต่อ นบข. อนุมัติแผนงาน โครงการ และมาตรการเกี่ยวกับการตลาด รวมทั้งประสาน ติดตาม กำกับดูแลการดำเนินการตามแผนงาน โครงการ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

3. คณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่ ติดตาม กำกับดูแล แก้ไขปัญหา และบริหารจัดการข้าวทั้งด้านการผลิตและการตลาดข้าวในระดับจังหวัดให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปด้วยความเรียบร้อยพิจารณาคัดเลือกและอนุมัติผู้ประกอบการค้าข้าวที่จะขอรับการสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ตามโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอ 4 มาตรการ ทั้งการชะลอการขาย การเก็บสต๊อก สินเชื่อรวบรวมข้าวเปลือก และช่วยลดต้นทุน ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า ขณะนี้สถานการณ์ที่เราคาดการณ์และต้องรับมือเปลี่ยนแปลงไป แต่ว่าเป้าหมายในการชะลอข้าวในสต๊อกให้มากขึ้น เพื่อให้รักษาเสถียรภาพราคาเป็นเป้าหมายสำคัญที่ดำเนินการ

สำหรับมาตรการช่วยลดต้นทุนการผลิตไร่ละ 1,000 บาทนั้น รัฐบาลยังใช้กลไกหลักเรื่องนี้ แต่เรื่องอื่นยังไม่พูดถึง รัฐบาลเชื่อว่ากลไกหลักที่ดำเนินการจะช่วยให้หลายๆ เรื่องคลี่คลายลงได้ ถ้ามาตการที่ดำเนินการและประสบความสำเร็จได้ มาตรการเหล่านี้อาจไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าหากมีปัญหาอยู่ก็อาจหยิบยกมาดำเนินการ เพราะ นบข.จะมีการประชุมในทุกเดือน

นายภูมิธรรม ยอมรับว่า มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการเฉพาะหน้า ซึ่งเชื่อว่าภายใน 1-5 เดือนสามารถรับมือได้ แต่ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปวางมาตรการระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาต่อไป และมอบหมายให้กรมการข้าวไปวิจัยพันธุ์ข้าวใหม่ เพื่อช่วยชาวนา เพิ่มยกระดับปริมาณข้าวต่อไร่ และยกระดับพันธุ์ข้าวให้สอดคล้องกับที่ตลาดโลกต้องการ

สิ่งที่เราห่วงใย คือ มีการคาดการณ์ราคาข้าวที่สูงและยังดำรงอยู่ได้ หากสามารถเก็บสต๊อกได้ดี ซึ่งในช่วงราคาข้าวในตลาดโลกยังผันผวนจึงเสนอให้มีการประชุมคณะกรรมการ นบข.ต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อติดตามสถานการณ์ต่อไปและเพื่อแก้ไขให้ทันเวลา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 พ.ย. 66)

Tags: , ,