นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนต.ค. 66 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากปัจจัยสนับสนุนในภาคบริการเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลเกี่ยวกับปริมาณผลผลิตทางการเกษตร จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ โดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคกลาง
– ภาคตะวันออก
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 80.6 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในภาคบริการ เป็นผลมาจากการจัดกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบกับมีการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นในภาคการลงทุน เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประกอบกับได้รับอานิสงส์จากนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันของรัฐบาล
ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พบว่า อยู่ที่ระดับ 83.4 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการและภาคการลงทุนเป็นสำคัญ
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 78.5 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากมีความต้องการของตลาดต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพาราและมันสำปะหลัง และความเชื่อมั่นในภาคบริการ เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลและประเพณีท้องถิ่นจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในหลายจังหวัดของพื้นที่
– ภาคตะวันตก
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 76.0 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากความเชื่อมั่นในภาคบริการ เนื่องจากการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในหลายจังหวัดของพื้นที่ และความเชื่อมั่นในภาคการลงทุน เนื่องจากนักลงทุนเริ่มกลับมาเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ
– ภาคใต้
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 74.4 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากภาคบริการ เป็นผลมาจากการประกาศใช้มาตรการยกเว้นวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวสัญชาติจีนและคาซัคสถาน รวมถึงคาดว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้โครงการ “Visit Thailand Year 2023” จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 67 และความเชื่อมั่นในภาคการลงทุน เนื่องจากผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะขยายการลงทุนเพื่อรองรับภาคบริการที่ขยายตัว
– ภาคเหนือ
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 73.5 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในภาคบริการที่ปรับตัวดีขึ้น เป็นผลมาจากการประกาศใช้นโยบายนำ Soft Power (อำนาจละมุน) มาดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมถึงการขยายเวลาเปิดให้บริการของสนามบินหลักในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มขยายตัว และความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากทิศทางนโยบายของรัฐบาลที่มีความชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ดี เกษตรกรในพื้นที่ยังคงมีความกังวลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อจำนวนผลผลิต
– กทม. และปริมณฑล
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 73.4 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากมีการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์จากภาครัฐและภาคเอกชน และความเชื่อมั่นในภาคการจ้างงาน เป็นผลมาจากการตอบสนองการขยายตัว เพื่อรองรับภาคบริการของผู้ประกอบการ
– ภาคกลาง
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 72.4 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าปีก่อน และความเชื่อมั่นในภาคการลงทุน โดยได้รับอานิสงส์มาจากมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการของรัฐบาล
อย่างไรก็ดี เกษตรกรในพื้นที่ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนินโญ (El Nino) ที่คาดว่าจะยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงช่วงกลางปี 67
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ต.ค. 66)
Tags: การลงทุน, ดัชนีเชื่อมั่นเศรษฐกิจภูมิภาค, ท่องเที่ยว, ผลผลิตทางการเกษตร, พรชัย ฐีระเวช, เศรษฐกิจ, เศรษฐกิจไทย