“จุลพันธ์” ไม่ท้อ! เดินหน้าฝ่ากระแสวิจารณ์ดิจิทัลวอลเล็ต

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เปิดเผยว่า ได้รายงานความคืบหน้าประชุมคณะอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่สรุป 3 ทางเลือกเพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการคัดกรองผู้ได้รับสิทธิโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้รับทราบแล้ว ในช่วงที่นายกรัฐมนตรี เดินทางไปตอบกระทู้สดที่สภาผู้แทนราษฎร

ซึ่งภายหลังจากมีข่าวออกมา ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดตั้งแต่ช่วงค่ำวานนี้ แต่ยืนยันว่าไม่ได้หนักใจ และจะรับฟังเสียงของประชาชนอย่างรอบด้าน

“ท่านนายกฯ เพียงแต่ตบบ่า ให้กำลังใจ ไม่ได้พูดอะไร และยิ้มให้ ซึ่งยอมรับว่าเมื่อเป็นนักการเมือง ก็ย่อมต้องเจอสถานการณ์แบบนี้” รมช.คลัง กล่าว

พร้อมยืนยันว่า ข้อสรุปจากการหารือในชั้นคณะอนุกรรมการฯ เรื่องหลักเกณฑ์ของผู้ที่จะได้รับสิทธินั้น ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเลือกทางใดทางหนึ่งตามมติคณะอนุกรรมการฯ เสนอ เพราะทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมสัปดาห์หน้า

โดย 3 ทางเลือกที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอไว้ คือ

1.ให้สิทธิเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ราว 15-16 ล้านคน โดยใช้ฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คาดใช้งบราว 1.5 แสนล้านบาท

2.ตัดกลุ่มผู้มีรายได้ โดยวัดจากการยื่นแบบเสียภาษี เฉลี่ยเกิน 25,000 บาทต่อเดือน และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาทออก จะเหลือผู้ได้สิทธิ 43 ล้านคน ใช้งบราว 4.3 แสนล้านบาท

3. ตัดกลุ่มผู้มีรายได้เกิน 50,000 บาทต่อเดือน และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทออก จะเหลือผู้ได้สิทธิ 49 ล้านคน ใช้งบราว 4.9 แสนล้านบาท

รมช.คลัง กล่าวว่า การคัดกรองกลุ่มผู้ได้รับสิทธิ เป็นการมองปัญหาที่แตกต่างกันของคณะอนุกรรมการฯ โดยฝั่งรัฐบาลมองว่า มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากยังโตไม่เต็มศักยภาพ ประชาชนยังมีความเดือดร้อน ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มองว่าควรดูแลเฉพาะกลุ่มเปราะบาง โดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจและการบริโภคฟื้นตัวแล้ว

ซึ่งถ้าถามความเห็นส่วนตัว ไม่เห็นด้วยที่จะดูแลเฉพาะกลุ่มเปราะบาง แต่ก็เห็นว่าควรตัดกลุ่มผู้มีรายได้ ที่ได้เงินไปแล้ว แต่ไม่เกิดการใช้จ่าย ดังนั้น ทางเลือกที่มีรายได้เกิน 50,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 5 แสนบาท น่าจะมีความเหมาะสมที่สุด ยอมรับได้ และยังพอเป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักของโครงการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

“ธปท. และสภาพัฒน์ ได้เสนอให้ช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ส่วนกรณีตัดคนมีรายได้ 2.5 หมื่นบาทต่อเดือน เงินฝากไม่เกิน 1 แสนบาทว่าเป็นคนรวยนั้น ผมก็ได้ท้วงติงไปว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มชนชั้นกลางก็ลำบาก ตึงมานานจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี ตกต่ำ มีวิกฤติโควิด-19 อีก ทำให้การฟื้นตัวไม่สมบูรณ์ ประเทศโตไม่เต็มศักยภาพ คนกลุ่มนี้ลำบาก หากเม็ดเงินลงไปในคนกลุ่มนี้ด้วย ก็จะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ นี่เป็นมุมมองของผม” รมช.คลัง กล่าว

พร้อมระบุว่า รัฐบาลยืนยันว่าวัตถุประสงค์ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ยังต้องเป็นไปตามที่ได้แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภา คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีบางหน่วยงานยืนกรานว่าควรจะเปลี่ยนเป็นเรื่องของการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางก็ตาม เพราะรัฐบาลยังมองว่าเศรษฐกิจไทยยังโตไม่เต็มศักยภาพ ประชาชนยังเดือดร้อน การกระตุ้นภาพใหญ่ยังสำคัญ ดังนั้นหากเงินลงไปที่กลุ่มเปราะบางอย่างเดียว วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท จะไม่ได้มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลต้องการ ถ้าการกระตุ้นไม่ใหญ่เพียงพอเมื่อเทียบกับขนาดของ GDP ก็จะไม่มีนัยที่จะดึงให้เศรษฐกิจกระเตื้องได้

“เราพูดคุยกันมาหลายครั้งว่า หากจำเป็นต้องตัดคนรวย ก็ต้องหาข้อตกลงที่มีความเหมาะสม ชี้วัดได้ ให้ไปพิจารณาจากถือครองที่ดิน หรือวัดจากสินทรัพย์ ก็เป็นเรื่องยาก หลังจากที่คณะอนุกรรมการฯ มีมติออกมา ก็ดีอย่างที่เมื่อคืนมีเสียงตอบรับจากประชาชนดังมาก เดิมที่มีแต่ความเห็นจากนักวิชาการ และประชาชนบางส่วนจากการลงพื้นที่ ก็ไม่แน่ใจว่าประชาชนต้องการเงิน 10,000 บาทหรือไม่ แต่เมื่อวานเสียงดังมาก เห็นชัดว่าประชาชนส่วนใหญ่ รอนโยบายนี้” นายจุลพันธ์ ระบุ

ส่วนเรื่องแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินนโยบาย กรณีหากจัดทำเป็นงบผูกพัน 4 ปีนั้น รมช.คลัง กล่าวว่า ประเด็นนี้ได้สอบถามไปที่สำนักงบประมาณเรียบร้อยแล้ว ได้รับการยืนยันว่าตาม พ.ร.บ.สำนักงบประมาณ ไม่มีปัญหา แต่คงต้องค่อย ๆ มาดูกันในรายละเอียดอื่น ๆ ด้วย โดยยังยืนยันชัดเจนว่าการดำเนินการทั้งหมดต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมาย และยังเชื่อ 100% ว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ต.ค. 66)

Tags: , ,