เงินบาทเปิด 36.30 แข็งค่าหลังดอลลาร์อ่อนค่า จับตาตัวเลขส่งออกไทย-ข้อมูลศก.สหรัฐ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาท เปิดตลาดเช้านี้ ที่ระดับ 36.30 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากปิดวันก่อนที่ระดับ 36.52 บาท/ดอลลาร์

โดยตั้งแต่วันจันทร์ที่เป็นวันหยุดของตลาดการเงินไทย เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งในกรอบ 36.28-36.54 บาท/ ดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์ หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาลดลงต่อเนื่อง จากระดับ 5%

ทั้งนี้ ตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการในวันนี้ ซึ่ง อาจส่งผลให้เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนได้ และสัปดาห์นี้ ควรจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ผลการประชุมธนาคาร กลางยุโรป (ECB) และรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน พร้อมระวังความผันผวนจากภาวะสงคราม

ส่วนปัจจัยในประเทศ ตลาดมองว่า ยอดการส่งออก เดือนก.ย. 66 ที่กระทรวงพาณิชย์จะรายงานวันนี้ อาจหดตัวราว -2% (y/y) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีก่อน รวมถึงภาพเศรษฐกิจคู่ค้าที่ยังคงชะลอตัว

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท อาจผันผวนตามทิศทางเงินดอลลาร์ ราคาทองคำ และราคาน้ำมันดิบ นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทาง เงินหยวนจีนด้วย นายพูน คาดกรอบเงินบาทวันนี้ จะอยู่ที่ระดับ 36.10-36.40 บาท/ดอลลาร์

ปัจจัยสำคัญ

– เงินเยนอยู่ที่ระดับ 149.65 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 149.93/96 เยน/ดอลลาร์

– เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0672 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.0589/0593 ดอลลาร์/ยูโร

– อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 36.493 บาท/ดอลลาร์

– กระทรวงพาณิชย์ จะเปิดเผยข้อมูลภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน ก.ย.66 และ 9 เดือนปี 2566

– นักวิชาการ-สรท.ชี้ สงครามอิสราเอล-ฮามาส ห่วงขยายวงกว้าง ดันราคาน้ำมันพุ่ง ทำมูลค่าการค้าโลกชะลอ 10-15% หวั่นรุนแรงกระทบเส้นทางขนส่งสินค้าคลองสุเอซ-ช่องแคบ ฮอร์มุซ “นักเศรษฐศาสตร์” มองหากยืดเยื้อ ทุบเศรษฐกิจทั้งโลก “อีไอซี” ประเมินร้ายแรงสุดกระทบไทยแน่ ส่อดันราคาน้ำมันเพิ่ม 10 ดอลลาร์สะเทือนเศรษฐกิจไทย 0.1-0.2%

– เอกชนหวั่น “สงคราม” ลุกลาม ฉุดเชื่อมั่นการเดินทาง “แอตต้า” ชี้ “ท่องเที่ยวไทย” ฝ่าความเสี่ยงหนักปี 67 ลุ้น ทัวริสต์ต่างชาติถึงเป้า 35 ล้านคน ส่วนปี 66 คาดปิดตัวเลข 27-28 ล้านคน หลัง 2 ตลาดหลัก จีน-ญี่ปุ่น เผชิญปัญหาเศรษฐกิจใน ประเทศ “สทท.” แนะรัฐงัดยาแรง ปลุก “ไทยเที่ยวไทย”

– ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (23 ต. ค.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐชะลอตัวลง ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินทิศ ทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

– สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ (23 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากสัญญาทองคำพุ่งขึ้น อย่างแข็งแกร่ง ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง สหรัฐ (เฟด)

– เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย.

– นักลงทุนเทน้ำหนักในการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุม 2 ครั้งสุดท้ายในปี นี้ แม้ว่านายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

– นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ย ก่อนที่คณะกรรมการเฟดจะ ประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 31 ต.ค. – 1 พ.ย. ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน ประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2566 (ประมาณการเบื้องต้น), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.ย. และยอดทำ สัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือนก.ย., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนก.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค.

– นักลงทุนจับตาความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) หลังจากสื่อรายงานว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจจะ ทบทวนนโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy) โดยอาจจะมีการปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อของญี่ปุ่น ขึ้นสู่ระดับสูงกว่าเป้าหมาย 2% ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ในการประชุมนโยบายการเงินซึ่งจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้ เพื่อปูทางสู่การยกเลิก นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ต.ค. 66)

Tags: , ,