KBANK ให้กรอบบาทสัปดาห์หน้า 36.10-36.80 จับตาสถานการณ์ในอิสราเอล-ส่งออกไทย

 I ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า (23-27 ต.ค.) ที่ระดับ 36.10-36.80 บาท/ดอลลาร์ จากปิดตลาด (20 ต.ค.) ที่ระดับ 36.52 บาท/ดอลลาร์

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่า โดยเงินบาททยอยอ่อนค่าลงตามสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส นอกจากนี้สัญญาณขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ และการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปีเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 5.00% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 16 ปี) ก็เป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมที่กดดันค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดีราคาทองคำในตลาดโลกที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้นในระหว่างสัปดาห์ ช่วยชะลอกรอบการอ่อนค่าของเงินบาทไว้บางส่วน

เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ มีแรงหนุนจากท่าทีของประธานเฟดที่ยังคงกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ แม้จะยอมรับว่า การขยับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินในช่วงที่ผ่านมา อาจลดความจำเป็นของการคุมเข้มทางการเงินต่อเนื่องของเฟดก็ตาม

สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 16-20 ต.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 4,053 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 9,847 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 9,772 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 75 ล้านบาท)

ส่วนปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์หน้า ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกเดือนก.ย. ของไทย สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางสกุลเงินเอเชีย รวมถึงสถานการณ์ในอิสราเอล

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนี PCE/Core Price Indices เดือนก.ย. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 (advanced) ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองของผู้บริโภคเดือนต.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนต.ค. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษและสหรัฐฯ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ต.ค. 66)

Tags: , , ,