วงเสวนา FIS & FIN Forum หนุนพัฒนาทักษะการเงิน แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

งานเสวนาในหัวข้อ “ถอดรหัสแผนที่การเงินครัวเรือนไทย สร้าง Financial Well-being” 4 หน่วยงานประสานเสียง ห่วงหนี้ครัวเรือนไทย ชี้ต้องให้ความรู้การเงินที่ถูกต้อง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยในการสัมมนา “ถอดรหัสแผนที่การเงินครัวเรือนไทย” ว่า ปัจจุบันครัวเรือนไทยมีหนี้ในระบบค่อนข้างสูง เกิดจากการเป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้นาน มีทัศนคติการใช้จ่ายที่พร้อมจะก่อหนี้ รวมทั้งหนี้บางประเภทยังขาดการกำกับดูแลที่ครอบคลุม

โดยพบว่าหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นปี 65 อยู่ที่ระดับ 91.4% ต่อจีดีพี หรือคิดเป็นมูลค่า 15.9 ล้านล้านบาท ซึ่งครัวเรือนไทยมากกว่าครึ่งเป็นหนี้ และมีหนี้สินคิดเป็นมูลค่าสูง ขณะที่กลุ่มรายได้น้อย มีรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ มาก โดยพบว่า หนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 413,454 บาท

สำหรับความท้าทายของหนี้ครัวเรือน คือ คนไทยเป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้นาน โดย 58% ของคน Gen Z คือช่วงอายุ 25-29 ปี เป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นหนี้บัตรเครดิต และมีการกู้ยืมซื้อยานพาหนะ ในสัดส่วนหนี้เป็นหนี้เสีย 1 ใน 4 ขณะที่ผู้สูงอายุ เป็นหนี้สูงกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อมีอายุมากขึ้นหรือเกษียณอายุ จะมีรายได้ลดลง และกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้

นอกจากนี้ ยังพบว่าการมีทัศนคติการใช้จ่ายที่พร้อมจะก่อหนี้ โดยมีทัศนคติ “ของมันต้องมี” โดยพบว่า 50% ของ Gen Z มีเงินไม่พอ เลือกที่จะกู้ยืมจากธนาคาร ใช้บัตรเครดิต และ 70% มีการผ่อนชำระสินค้า-บริการแบบเสียดอกเบี้ย

ขณะเดียวกัน ยังพบว่า 1 ใน 5 เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งไม่ก่อให้เกิดรายได้ และการกำกับดูแลการให้สินเชื่อยังไม่ครอบคลุม เพราะหนี้บางประเภทไม่มีการกำกับดูแล เช่น ธุรกรรมเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ทำให้เกิดปัญหา เช่น การเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยสูง การทวงหนี้และการยึดรถที่ไม่เป็นธรรม

นอกจากนี้ ในปัจจุบันไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่เริ่มการออมช้า ดังนั้นจำเป็นต้องปลูกฝังตั้งแต่เริ่มทำงาน รวมทั้งต้องมีระบบที่ให้ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบ เช่น ภาคเกษตร สามารถเข้าถึงการออมได้ เพื่อจะได้มีเงินออมในระยะยาว และต้องปลูกฝังแนวคิด การออมก่อนถึงนำไปใช้จ่าย

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ในส่วนของการพัฒนาตลาดทุน จะมีในส่วนของการระดมทุนจากประชาชน เพื่อให้เป็นแหล่งออมเงิน แต่ปัจจุบันออมช้า ออมไม่เป็น โจทย์ที่เราให้ความสำคัญ คือ การเข้าถึงตลาดทุน

ทั้งนี้ จากจำนวนประชากร 66 ล้านคน มี 39 ล้านคนที่มีงานทำ มีการลงทุนผ่านตลาดทุน 2.4 ล้านคน และมีแค่ 9 แสนบัญชีที่ยัง Active ส่วนกองทุนรวม มีแค่ 1.8 ล้านคน ส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชน แค่ 2 แสนคน ซึ่งเป็นโจทย์ที่จะทำอย่างไร ให้ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ เป็นช่องทางการออมในระยะยาว มีการโปรโมทสร้างการตระหนักรู้ โดยอาจจะเริ่มที่ทำอย่างไรให้เข้าถึงการออมที่มีความเสี่ยงต่ำ

นางพรอนงค์ กล่าวว่า สิ่งที่เราอยากเห็น คือประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะยังมีคนที่อยู่ใต้เส้นยากจนเยอะมาก ซึ่งอยากให้นโยบายรัฐเข้าไปดูแลกลุ่มเปราะบาง และควรมีการส่งเสริมให้มีการออมผ่านระบบมากขึ้น เช่น การออมของข้าราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่รอมีเงินแล้วมาออม แต่ต้องบังคับให้ออมในระหว่างการทำงาน

สำหรับการพัฒนาทักษะทางการเงิน หลังจากเกิดเหตุการณ์กรณีหุ้นของ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) นั้น นางพรอนงค์ กล่าวว่า ปัญหาที่สำคัญ คือ การหลอกลวง โดยทาง ก.ล.ต.พยายามจะสร้างเครื่องมือ และให้ความรู้ก่อนลงทุน รวมทั้งเห็นว่า ควรเริ่มให้ความรู้เรื่องการออมตั้งแต่เด็ก ออกแบบการศึกษาให้เข้าใจการออม ซึ่งเป็นโจทย์ที่สถาบันการศึกษาต้องรับไปในการให้ความรู้ทางการเงินและสร้างทัศนคติที่ดีต่อการออม

ด้านนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องกระตุ้น คือ การให้บริการทางการเงินที่เป็นธรรมและมีความรับผิดชอบ เริ่มจากการให้ความรู้ การนำเสนอที่ตอบโจทย์ และไม่สร้างปัญหาตามมา ทั้งนี้ มองว่า มีเมกะเทรนด์ที่จะกระทบ Financial Well-being 3 เรื่อง คือ

1.Aging society คือ สังคมผู้สูงวัย เสี่ยงแก่ก่อนรวย พบว่า มีผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอเป็นบางครั้ง/ไม่เพียงพอ 42% ผู้สูงอายุไม่มีการออมเงิน 42% มีผู้สูงอายุที่ยังคงต้องทำงาน 35% จึงจำเป็นต้องส่งเสริมทักษะการเงินของคนวัยเกษียณมากขึ้น

2.Climate Change การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ภาคเกษตรเกิดความอ่อนไหวแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ทำให้เกิด Climate shocks ทำให้การเติบโตของรายได้ต่อหัวเฉลี่ยลดลงในจังหวัดต่างๆ ลดลง 2.28%

3.Digital disruption การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งอาจส่งผลให้ชุมชนฐานราก ไม่สามารถเข้าถึงดิจิทัลได้

นายผยง กล่าวว่า สิ่งที่เป็นจุดอ่อนสำคัญ คือ ความรู้ทางการเงิน การเข้าถึงบริการการเงินที่เท่าเทียม ซึ่งทั้ง 2 ส่วนมีความท้าทาย ซึ่งในแผนยุทธศาสตร์นั้น สมาคมธนาคารไทยต้องการทำให้ครัวเรือนไปถึงผู้ประกอบธุรกิจมีความสามารถแข่งขันได้เต็มที่

ด้านนายวิทัย รัตนากร ประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า ที่ผ่านมา การแก้หนี้ครัวเรือน ถือเป็นภารกิจของธนาคารของรัฐที่ได้รับโจทย์มา แต่เนื่องจากการที่มีข้อมูลไม่ชัดเจน จึงยังไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ ซึ่งมองว่า ดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางการเงิน (Spatial Financial Fundamental Index : SFFI ) สามารถชี้เป้าหมายที่ชัดได้ ทำให้เกิดการแบ่งงานได้ หรือกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม ประกอบด้วย เด็ก กลุ่มเปราะบาง กลุ่มฐานราก ผู้สูงอายุ จะช่วยให้การแก้ปัญหาได้ตรงจุดและเกิดผลที่ชัด

นายวิทัย กล่าวด้วยว่า ธนาคารออมสิน พร้อมรับนโยบายของกระทรวงการคลังที่ต้องการให้ธนาคารฯ เป็นเจ้าภาพในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง ได้มอบนโยบายให้ธนาคารออมสินตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือนลงได้ ช่วยทำให้ลูกหนี้มีความคล่องตัวในการชำระหนี้ และลดหนี้ลงได้เร็ว โดยระยะแรกนั้น ธนาคารฯ จะดำเนินการกับลูกค้าของธนาคารก่อน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ต.ค. 66)

Tags: , , , , , , , ,