รมช.คลัง สั่ง “ออมสิน” นำร่องแบงก์รัฐตั้ง AMC บริหารหนี้เสียครัวเรือน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินนโยบายพักชำระหนี้เกษตรกร ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 2.7 ล้านรายแล้ว โดยหลังจากนี้ได้ให้นโยบายสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเร่งช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นหนี้ดี และหนี้เสียทั้งระบบ

รมช.คลัง กล่าวว่า ในฐานะที่กำกับดูแลธนาคารออมสิน ที่ผ่านมาได้สั่งการให้ออมสิน ช่วยดูแลลูกหนี้ที่ชำระหนี้ดี ต้องมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อให้สามารถผ่อนเท่าเดิมแต่ลดต้นได้มากขึ้น ขณะที่ลูกหนี้เสีย อยากผลักดันให้ทุกสถาบันการเงิน ทั้ง สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) และธนาคารพาณิชย์ เข้ามาช่วยแก้ไข โดยมีแนวคิดให้นำหนี้เสียมารวมไว้ในที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งจะดำเนินการคล้ายธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (AMC) แต่ครั้งนี้ มีความตั้งใจจะให้ธนาคารออมสินรับเป็นเจ้าภาพ

โดยได้สั่งการให้ธนาคารออมสิน ดำเนินเป็นโครงการนำร่อง (Pilot Project) กับกลุ่มลูกหนี้ของธนาคารออมสินก่อน ซึ่งขณะนี้คาดว่าธนาคารอยู่ระหว่างทำแผนการดำเนินการ และจะนำมาเสนอว่ามีความคืบหน้าอย่างไร

“การแก้ไขปัญหาหนี้เสีย จะต้องไม่คิดถึงในเรื่องของกำไรและขาดทุน ต้องช่วยกันบริหาร เพื่อดำเนินการได้รวดเร็วมากขึ้น ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนลดลง ในส่วนของแบงก์รัฐ อาจจะมีการโน้มน้าวจูงใจได้ ซึ่งส่วนใหญ่มีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้หมดแล้ว หากเป็นได้ ก็อยากให้รวมไว้ที่ใดที่หนึ่ง สามารถตัดหนี้เสียได้เลย”

นายกฤษฎา กล่าว

พร้อมระบุว่า การรวมหนี้เสีย มีแนวคิดว่าหากสถาบันการเงินแต่ละแห่ง มีเรื่องของต้นทุนที่จะต้องพิจารณา หน่วยงานที่รับรวมหนี้ หรือภาครัฐ จะมีการออกตั๋วให้สถาบันการเงินสำหรับหนี้ก้อนนั้น และเมื่อมีการบริหารจัดการหนี้ได้เรียบร้อย และได้รับกลับคืนมาเท่าไร สถาบันการเงินนั้นๆ สามารถนำตั๋วที่ได้รับ มาหักกับหนี้ที่บริหารจัดการเรียบร้อยแล้ว ส่วนจะคิดกำไรและขาดทุนเท่าไรนั้น แล้วแต่การพิจารณา ซึ่งลักษณะดังกล่าวเคยดำเนินการแล้วเมื่อวิกฤติปี 40 ผ่าน AMC

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ต.ค. 66)

Tags: , , ,