ดิจิทัลวอลเล็ตยังไร้ข้อสรุป อนุกรรมการเลื่อนถกเป็น 24 ต.ค.

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า ได้สั่งให้เลื่อนการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ออกไปก่อนจากเดิมที่กำหนดจะประชุมในวันนี้ เนื่องจากยังมีหลายประเด็นไม่ได้ข้อสรุป ฝ่ายเลขาฯ จึงเสนอขอเลื่อนประชุมออกไปก่อน และคาดว่าจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการฯ อีกครั้งสัปดาห์หน้า ในวันที่ 24 ต.ค.

“ผมเป็นคนสั่งให้เลื่อนการประชุม เพราะส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายเลขาฯ มาหารือ ซึ่งมีการประชุมเมื่อวาน มีหลายประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุปพอที่จะเสนอกับคณะอนุกรรมการฯ กระบวนการทำข้อสรุปค่อนข้างใช้เวลา จึงขอชะลอไปก่อน ผมก็ให้เลื่อนได้ แล้วขอให้ไปประชุมในส่วนที่ยังค้างคา เพื่อให้เกิดความรอบคอบรัดกุมที่สุด ฝ่ายเลขาฯ จะนัดประชุม อีกครั้งสัปดาห์หน้า” นายจุลพันธ์ ระบุ

รมช.คลัง ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงเรื่องกรอบระยะเวลาของโครงการ ซึ่งโจทย์ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง วางไว้คือ 1 ก.พ. 67 ซึ่งเป็นเวลาที่ค่อนข้างตึง และไม่ง่าย ดังนั้นหากมีความจำเป็นต้องเลื่อน ก็ต้องเลื่อนออกไป โดยเชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะไม่ติดใจในประเด็นนี้ หากเป็นการเลื่อนด้วยเหตุผลที่เหมาะสม และมีความจำเป็นจริง ๆ

“ไม่ได้หมายความว่าเราจะเลื่อนจากกรอบเวลา 1 ก.พ.67 แต่หมายความว่า สุดท้ายแล้วถ้าแอปพลิเคชันที่จะใช้ในการดำเนินการ จำเป็นต้องใช้เวลาในการพัฒนา และสิ่งสำคัญที่ต้องดู คือเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ความมั่นคงของตัวระบบ ดังนั้นถ้าจะเอาเรื่องพวกนี้มาแลกกับเวลา คงไม่ได้ เรารู้อยู่แล้วว่ากระบวนการทำแอปพลิเคชัน สิ่งที่ใช้เวลานานที่สุด คือการทดสอบระบบ ทดสอบการโดนโจมตี ผมจะซื้อเวลาพวกนี้ไม่ได้เลย ถ้ามันมีความจำเป็นเท่าไร ก็ต้องเท่านั้น แต่ต้องตอบให้ได้ว่า ช้าเพราะอะไร แต่ก็มีเดตไลน์ไว้ว่าจะต้องไม่เกินไตรมาส 1/2567” นายจุลพันธ์ กล่าว

โดยขณะนี้ยังต้องหารือหลายประเด็น ทั้งเรื่องแหล่งเงิน ซึ่งมีการหารือกัน แต่ยังสรุปไม่ได้ ไม่ใช่ไม่มีข้อสรุป โดยเพดานของโครงการอยู่ที่ 5.48 แสนล้านบาท ซึ่งสุดท้ายต้องมาหารือกับคณะทำงานว่าจะมีการกำหนดกรอบผู้ได้รับสิทธิ์อย่างไร จำเป็นจะต้องตัดคนรวยออกหรือไม่ เพราะมีทั้งข้อเสนอให้ตัด และไม่ให้ตัด รวมถึงมีข้อเสนอให้จ่ายเป็นเฟส ซึ่งก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณา แต่ยังไม่ได้มีการสรุป ดังนั้นสุดท้ายแล้วว่าจะใช้เงินเท่าไร จำนวนคนเท่าไร ตอนนี้ยังตอบไม่ได้

นายจุลพันธ์ ย้ำว่า นโยบายนี้เป็นกลไกช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่การสงเคราะห์ ไม่ใช่นโยบายช่วยเหลือคนยากจน ดังนั้นต้องให้มีเม็ดเงินมากเพียงพอที่จะมีผลกับการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นกลับมาในระดับที่เต็มศักยภาพ เพราะที่ผ่านมา จะเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจที่ต่ำมาโดยตลอด มีการปรับลดคาดการณ์จีดีพีลงอย่างต่อเนื่อง เหลือ 2.6-2.8% หากรัฐบาลไม่ทำอะไร ปล่อยไว้ หลายส่วนก็คาดว่าจีดีพีอาจจะต่ำไปกว่านี้

แต่ตอนนี้รัฐบาลมีหลายนโยบายออกมา ทั้งเรื่องกระตุ้นการท่องเที่ยว ลดราคาพลังงาน ทำให้ทุกฝ่ายมั่นใจมากขึ้น ด้วยกลไกที่รัฐบาลทำระดับนี้ และเศรษฐกิจไทยที่ยังมีช่องว่างในการเติบโตได้อีก จึงมองว่ากลไกการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ จะเป็นจุดหนึ่งที่ช่วยจุดประกายให้เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น หลังจากนั้นรัฐบาลจะมีนโยบายอื่น ๆ ประกอบตามมา เพื่อให้การเติบโตเป็นไปได้ตามเป้าหมายที่เฉลี่ย 5%

“ถามว่าหากมีการกำหนดกรอบ หรือเกณฑ์ของผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการ ก็อาจจะขัดกับนโยบายที่ได้เสนอไว้ตอนหาเสียงว่าจะจ่ายให้ทุกคนที่อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป แต่ขณะนี้ เป็นรัฐบาลผสม นโยบายบางข้อต้องมาพูดคุยเพื่อหาข้อสรุป จะยืนแข็งเป็นหินคงทำไม่ได้ ต้องมีจุดร่วมที่เหมาะสม เพราะตอนแรกยังไม่แน่ใจว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่เมื่อชัดเจนแล้วว่ามีการเดินหน้าโครงการการ ก็มีคนออกมาตั้งข้อสังเกต รัฐบาลก็พร้อมรับฟัง และนำมาปรับในสิ่งที่เหมาะสม” นายจุลพันธ์ ระบุ

ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าโครงการแจกเงินดิจิทัล จะซ้ำรอยโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่นั้น รมช.คลัง ยืนยันว่าไม่กังวล เพราะมั่นใจว่านโยบายนี้ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะตนเอง ไม่มีเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นแน่นอน แค่ต้องดูให้รอบคอบ รัดกุม ปฏิบัติตามกฎหมายทุกระดับอย่างเคร่งครัด มีกลไกในการตรวจสอบติดตาม ทั้งในส่วนนโยบายและการใช้จ่ายจริง

“หากไม่ได้มีการใช้จ่ายจริง โดยเป็นการแลกสิทธิ์เป็นเงินสด ก็จะมีกระบวนการติดตาม ตรวจสอบ และดำเนินคดีได้อย่างครบถ้วน” นายจุลพันธ์ กล่าว

ส่วนประเด็นเรื่องการใช้วงเงินในการพัฒนาแอปพลิเคชั่นหลักหมื่นล้านบาท ตามที่มีข่าวก่อนหน้านี้นั้น รมช.คลัง ยืนยันว่าตัวเลขที่จะใช้ในการพัฒนาแอปพลิเคชันไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าตกใจ ไม่ใช่ตัวเลขหลักพันล้านบาท หรือหมื่นล้านบาทอย่างแน่นอน แต่ยังไม่ได้คุยชัดเจนในประเด็นนี้ ซึ่งไม่ทราบว่าข่าวที่ออกมานั้นไปเอาตัวเลขมาจากไหน

ส่วนเงื่อนไขการใช้จ่ายโครงการเงินดิจิทัล ที่เดิมกำหนดการใช้ในรัศมีไม่เกิน 4 กม. จากทะเบียนบ้านนั้น ขณะนี้ตัวเลือกที่เหลือ คือ สามารถใช้จ่ายได้ในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด หากเป็นในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็เป็นเขต เป็นแขวง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ต.ค. 66)

Tags: , ,