ปชป.ติงมาตรการลดพลังงานฉาบฉวย ชี้ช่องรัฐปรับเกณฑ์นโยบายไม่กระทบฐานะคลัง

นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ถึงแม้จะเห็นด้วยกับการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน แต่มาตรการลดค่าพลังงานของรัฐบาลในเดือนที่ผ่านมาเป็นการแก้ปัญหาที่ฉาบฉวย เป็นการเบียดบังทางการคลังมากกว่าการปรับลดผลประโยชน์ของกลุ่มทุนพลังงาน ทั้งสองมาตรการที่ประกาศไปนั้นจึงเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของฐานะการคลังและสร้างหนี้สาธารณะ เป็นการผลักภาระให้ประชาชนในอนาคต

ดังนั้นจึงเสนอความเห็นไปถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ถึงแนวทางการแก้ไขกฎเกณฑ์พลังงานด้านต่างๆ โดยขอให้กฎเกณฑ์ใหม่ที่รัฐบาลจะกำหนดไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังหรือสร้างหนี้สาธารณะ แต่ให้มุ่งแก้ไขกฎเกณฑ์ที่เอื้อประโยชน์ผู้ผลิตพลังงานอย่างไม่เป็นธรรมจนส่งผลให้ประชาชนต้องจ่ายค่าน้ำมันและค่าไฟฟ้าแพง โดยจะทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิดลดลงได้ทันทีอย่างน้อย 1.20 บาทต่อลิตร และลดค่าไฟฟ้าลงได้ 60 สตางค์ต่อหน่วย ดังนี้

1.ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ขอให้ยกเลิกแนวคิด import parity ที่ผูกสูตรคำนวณราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นที่ใช้มาประมาณ 50 ปี โดยมีหลักคิดจากสภาพในอดีตที่ไทยมีโรงกลั่นเพียงแห่งเดียวและต้องพึ่งพาสิงคโปร์ในการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจึงมีการคำนวณราคาน้ำมันที่อิงกับตลาดสิงคโปร์และบวกด้วยค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อกำหนดราคาในประเทศ คณะกรรมการการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จะประกาศกำหนดปัจจัยและราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้ผู้ผลิตน้ำมัน เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปจนมีเหลือใช้ภายในประเทศต้องส่งออก ไม่จำเป็นต้องมีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันโรงกลั่นของไทยมีถึง 6โรงและผลิตได้วันละ 1.25 ล้านบาเรล โรงกลั่นแห่งหนึ่งก็มีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตอีกวันละ 2.5 แสนบาเรล การผลิตน้ำมันในประเทศไทยจะมีกำลังไม่น้อยไปกว่าสิงคโปร์ จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องซื้อน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ขณะที่สูตรดังกล่าวใช้ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยของสิงคโปร์ (MOPS= Mean oil prices by Platts in Singapore) บวกด้วยปัจจัยต่างๆ ที่สามารถยกเลิกจากการคำนวณ ตามรายละเอียดดังนี้

– ค่าปรับคุณภาพน้ำมันที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มอีก 0.46 บาทต่อลิตรสำหรับเบนซิน และเบนซินโซฮอล์เพิ่มขึ้นอีก 0.14-0.35 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซลไม่มีค่าปรับคุณภาพ ปัจจุบันน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่นในไทยได้มาตรฐาน EURO-5 อยู่แล้ว จึงไม่ควรต้องให้ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน

– ค่าขนส่งน้ำมันจากท่าเรือสิงคโปร์ถึงท่าเรือแหลมฉบัง เฉลี่ย 0.45 บาทต่อลิตร ซึ่งในรอบสิบปีที่ผ่านมาไทยไม่มีการขนน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์มาขายในประเทศไทย

– ค่าขนส่งทางท่อน้ำมัน (ศรีราชา-กรุงเทพ) อีก 0.15 บาทต่อลิตร ทั้งๆ ที่การขนส่งน้ำมันในประเทศปัจจุบันใช้เรือ รถไฟ และรถบรรทุกน้ำมัน เป็นหลัก แม้ว่าจะมีการยกเลิกรายการนี้แต่ก็กลับไปบวกในค่าการตลาดที่เพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร

– ค่าสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงบวกไปอีก 0.15 บาทต่อลิตร ในทางปฏิบัติสามารถยกเลิกได้ เพราะประเทศไทยมีการผลิตน้ำมันเกินความต้องการอยู่แล้ว หากมีเหตฉุกเฉินสามารถออกมาตรการระงับการส่งน้ำมันไปต่างประเทศได้อยู่แล้ว

– ค่าประกันภัยควรอยู่ในค่าใช้จ่ายของผู้ค้า

– ค่าสูญเสียจากการปรับอุณหภูมิในการขนส่งจากสิงคโปร์ เพราะไม่มีการขนส่งเกิดขึ้น

โดยรวมแล้ว หากยกเลิกปัจจัยทั้ง 6 ในการคำนวณราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่น จะทำให้ประชาชนใช้น้ำมันราคาถูกลง 1.20 บาทต่อลิตรทันที เมื่อราคาลดลง 1.20 บาท ยังไม่รวมการทบทวนค่าการตลาดที่กำหนดไว้ไม่เกิน 2.0 บาทต่อลิตร ซึ่งจากข้อเท็จจริงพบว่าค่าการตลาดในรอบปี 2565 ถึงปัจจุบันยังสูงกว่าที่รัฐบาลกำหนด หากมีการควบคุมราคาการตลาดอย่างจริงจังให้ไม่เกิน 2 บาทต่อลิตรได้แล้ว จะลดราคาน้ำมันโดยเฉพาะเบนซินลงได้อีกไม่ต่ำกว่าลิตรละ 2 บาท โดยไม่จำเป็นต้องไปกระทบฐานะการคลังหรือสร้างหนี้ในกองทุนน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันยังมีหนี้สินสุทธิ กว่า 68,327 ล้านบาท (8 ต.ค.66)

นอกจากนี้เพื่อให้โครงสร้างราคาน้ำมันมีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ขอให้รัฐบาลสนับสนุนการแข่งขันเสรีอย่างแท้จริงในตลาดน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากจะมีน้ำมันสำเร็จรูปล้นตลาดในประเทศ รัฐบาลจะต้องไม่ยอมให้มีการผูกขาดหรือฮั้วราคาขายปลีก แต่ยังดูแลให้ราคาไม่เอาเปรียบผู้บริโภคจนเกินไปโดยมี ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูป (MOPS) ที่ตลาดสิงคโปร์เป็นตัวเทียบเคียง แต่ไม่ใช้เป็นมาบวกค่าใช้จ่ายข้างต้นเพื่อกำหนดราคา ณ โรงกลั่นอย่างที่ทำในปัจจุบัน

สำหรับในระยะยาว ขอให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์ เช่น

1) โครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่ควรปรับมาใช้หลักการเก็บตามแนวทาง Carbon offset เพื่อให้สอดรับคล้องกับกระแสการดูแลโลกร้อน รวมทั้งภาระการใช้น้ำมันเบนซินของจักรยานยนต์เกือบ 23 ล้านคันที่เป็นของผู้มีรายได้น้อย

2) การทบทวนโครงสร้างกองทุนเงินชดเชยน้ำมัน ที่เจตนารมณ์ของการจัดตั้งเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันแต่ละชนิด ไม่ใช่เพื่อการอุดหนุนน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้มหรือการ cross subsidy

3) ละเว้นการก่อหนี้ในกองทุนน้ำมันฯ

4) การทบทวนการใช้เอทานอลและน้ำมันปาล์ม มาผสมกับน้ำมัน จะลดต้นทุนน้ำมันลงไปได้อีกและลดความเสี่ยงด้านแหล่งอาหารของประเทศลง

5) การลดประเภท/ชนิดของน้ำมันลงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการและลดต้นทุนค่าใช้จ่าย

6) ควบคุมไม่ให้มีการครอบงำตลาดจนไม่เกิดการแข่งขัน จากการลดจำนวนผู้ประกอบการในตลาดน้ำมัน เพราะถูก take over ที่ลดจำนวนผู้ผลิตและผู้ประกอบการ

2.การปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า ในเรื่องการลดอุปทานของไฟฟ้าในระบบคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากปัจจุบันมีสัญญาผูกมัดกับภาคเอกชน แต่ขอย้ำให้รัฐมีความโปร่งใสในการประมูล ที่ผ่านมามีกลุ่มทุนที่มักชนะการประมูลไปได้ทุกครั้ง แต่สิ่งที่ทำได้และทำได้ทันที และมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง อย่างยั่งยืนคือ

– การทบทวนโครงสร้างต้นทุนของการนำแก๊สธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้าที่มีสัดส่วนถึง 60% ของต้นทุนทั้งหมด โดยที่แหล่งที่มามาจากแก๊สในอ่าวไทยสัดส่วนถึง 66% จากแหล่งแก๊สในประเทศเมียนม่า 16% และจากการนำเข้า LNG จากต่างประเทศ 18% ทั้งนี้ในส่วนของแก๊สในอ่าวไทยเนื่องจากมีราคาที่ถูกกว่าแห่งอื่นๆ รัฐจะต้องกันให้เป็นแหล่งพลังงานเพื่อให้คนไทยได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง แต่กลับเป็นว่าที่ผ่านมารัฐได้ใช้ราคาตลาดโลกมาคำนวณราคาแก๊สผลิตไฟฟ้าแบบเฉลี่ยเหมารวม แก๊สจากแหล่งในอ่าวไทย ที่ผ่านโรงงานแยกแก๊สส่วนหนึ่งเป็นแก๊สหนักที่ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รัฐได้ขายให้แก่กลุ่มทุนระบบปิโตเคมีในราคาที่ถูกมาก ทำให้แก๊สจากแหล่งในอ่าวไทยที่เป็นสมบัติของชาติที่คนไทยทุกคนควรได้ประโยชน์เสมอภาคกัน ไม่ได้เป็นตัวช่วยให้ราคาค่าไฟฟ้าถูกลง ดังนั้นหากมีการปรับโครงสร้างการคำนวณราคาขายแก๊ส โดยให้แก๊สจากอ่าวไทยถือเป็นเชื้อเพลิงในส่วนของ Methane กันให้เพื่อการผลิตไฟฟ้า และส่วนที่ป้อนปิโตรเคมีให้คิดคำนวณราคาMethane จากแหล่งที่ไม่ใข่อ่าวไทยแล้ว จะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าลดลงอีกไม่ต่ำกว่า 1.0 บาทต่อหน่วย

นอกจากการปรับสูตรคิดค่าแก๊สข้างต้น ขอให้รัฐบาลต้องเดินหน้าอย่างจริงจังอีก 2 ประการคือ

1) การใช้ Solar roof และ ระบบ Net metering อย่างแท้จริง ประเทศไทยมีพลังงานแสงแดดมหาศาลที่ไม่ได้มีการนำมาใช้ ปัจจุบันแผงโซล่าเซลส์ที่ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ก็มีราคาต่ำกว่าเมื่อก่อนมาก ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเหลือไม่ถึง 2.0 บาทต่อหน่วย พลังไฟฟ้าแสงอาทิตย์จึงเป็นแหล่งกำเนิดไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำที่สุด รัฐจึงควรสนับสนุนให้ประชาชนติดตั้งแผงโซล่าและรับซื้อเข้า grid ในราคาที่เป็นธรรม โดยไม่ลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลอีกต่อไป และไม่ทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายใหญ่ (IPP/SPP) อย่างที่เคย จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่า ประชาชนติดตั้งไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนนโยบาย Net Zero

2) การยกเลิกการใช้ข้อมูลการพยากรณ์ล่วงหน้า เพื่อกำหนดค่า FT มาเป็นการใช้ตัวเลขจริงในอดีตในการกำหนดค่า FT เพราะจากการศึกษาพบว่าตัวเลขการคาดการณ์ดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนสูงกว่าตัวจริงมาก ทำให้ค่า FT แต่ละงวดสูง ส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าสูงกว่าความเป็นจริง เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค

นายพิสิฐ กล่าวว่า จากข้อเสนอทั้งสองด้าน คือการยกเลิกแนวคิด import parity ด้วยการใช้สูตร MOPS บวกบวก และการปรับเปลี่ยนให้แก๊สจากอ่าวไทยให้มาใช้กับโรงไฟฟ้าเท่านั้น สามารถทำได้ทันทีซึ่งจะเป็นเหตุให้รายจ่ายพลังงานของประชาชนลดลงได้อย่างชัดเจนเป็นการลดภาระค่าครองชีพที่ประชาชนกำลังมีความเดือดร้อน โดยไม่กระทบฐานะการคลังหรือสร้างหนี้ในกองทุนน้ำมันหรือหนี้สาธารณะอีกด้วย

ปัจจุบันไทยใช้พลังงานสูงมากเทียบเท่าน้ำมันดิบเกือบ 2 ล้านบาเรลต่อวัน ตั้งแต่หลังเลือกตั้งมีการปรับราคาน้ำมันบ่อยครั้ง โดยตั้งแต่เดือนแรกรัฐบาลประกาศลดราคาน้ำมันดีเซลลง 2.50 บาทต่อลิตร เพื่อให้ราคาขายไม่เกิน 30 บาท และยังมีความพยายามจะประกาศลดราคาน้ำมันเบนซินแต่ยังไม่เกิดขึ้น แต่การลดราคาน้ำมันที่ผ่านมาเป็นการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันทำให้เกิดภาระทางการคลัง รัฐบาลขาดดุลเงินสดมากขึ้น ขณะที่ไม่ได้เป็นการปรับหรือทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันให้เหมาะสมเป็นธรรม สำหรับค่าไฟฟ้ารัฐบาลมีการปรับลด 2 ครั้ง รวม 46 สตางค์ จากหน่วยละ 4.45 บาท เหลือ 3.99 บาท ซึ่งราคาที่ลดลงนี้ไม่ได้เกิดจากการปรับโครงสร้างเช่นกัน แต่เกิดจากการยืดหนี้ที่ต้องจ่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตออกไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ต.ค. 66)

Tags: , , , , , ,