นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ในเส้นทางสายสีม่วง สถานีคลองบางไผ่-สถานีเตาปูน และสายสีแดง สถานีกลางบางซื่อ-สถานีรังสิต
โดยวันนี้ เวลาประมาณ 11.00 น. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม จะเดินทางไปเปิดใช้อย่างเป็นทางการ ที่สถานีกลางบางซื่อ
นายสุริยะ กล่าวว่า เบื้องต้นผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่าระบบมีความพร้อมแล้ว คาดว่า 11.00 น.หรือไม่เกิน 13.00 น.ระบบก็สามารถใช้งานได้
อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้รฟม. และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมความพร้อม ทั้งในส่วนของสิ่งอำนวยความสะดวกบนสถานี อาทิ ลิฟท์ บันไดเลื่อน ให้มีความปลอดภัย
นอกจากนี้ มอบหมายให้ติดตั้งป้ายแนะนำการใช้บริการ รวมถึงจัดเตรียมเจ้าหน้าที่คอยดูแลความสะดวกในการเดินทาง และประชาสัมพันธ์ ให้คำแนะนำประชาชนที่มาใช้บริการ พร้อมทั้งให้ประเมิน และเก็บข้อมูลผลการดำเนินงานการเปิดใช้นโยบาย เพื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาและอุปสรรค ก่อนนำไปปรับปรุงการให้บริการ โดยให้รายงานผลมายังกระทรวงคมนาคมทุกเดือน
สำหรับผู้โดยสารที่เปลี่ยนรถไฟฟ้าหรือข้ามระบบยังต้องชำระค่าโดยสารสองรอบ แต่การข้ามระบบมีผู้ใช้เพียง 300 คนต่อวันเท่านั้น ซึ่งยังจะต้องใช้ระยะเวลาอีกเล็กน้อย เนื่องจากขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้ให้ธนาคารทำระบบให้สามารถเชื่อมโยงได้ คาดว่าประมาณวันที่ 1 พ.ย.จะสามารถใช้บริการข้ามสายได้
นายสุริยะ กล่าวว่า ขณะที่ในเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่นๆ นั้น หลังจากนี้กระทรวงคมนาคมจะแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาร่วมกับภาคเอกชน เพื่อดำเนินการนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายให้ครอบคลุมโครงข่ายในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลในทุกเส้นทาง ตามเป้าหมายภายใน 2 ปีนับจากนี้ต่อไป
สายสีม่วง-สายสีแดง ปรับลดค่าโดยสาร ตามนโยบายรัฐบาล
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรฟม. เปิดเผยว่า รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง (สถานีคลองบางไผ่ – สถานีเตาปูน) จะเริ่มใช้อัตราค่าโดยสารใหม่ จ่ายสูงสุด 20 บาท (จากอัตราเดิมจ่ายสูงสุด 42 บาท) ในวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 11.00 น. เป็นต้นไป ทั้งนี้ อัตราค่าโดยสารสำหรับบุคคลทั่วไป 14-20 บาท เด็ก/ผู้สูงอายุ 7-20 บาท และนักเรียน/นักศึกษา 13-20 บาท
นอกจากนี้ กรณีที่ผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ของ รฟม. เดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟชานเมือง สายสีแดง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่สถานีบางซ่อน โดยใช้บัตร EMV Contactless ใบเดียวกันในการชำระค่าโดยสาร และเปลี่ยนถ่ายระบบภายในระยะเวลา 30 นาที จะชำระค่าโดยสารทั้งสองสายรวมกัน สูงสุด 20 บาท โดยจะเริ่มดำเนินมาตรการหลังจากพัฒนาเชื่อมต่อระบบ EMV Contactless แล้วเสร็จ
นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เปิดเผยว่า ตามที่ประชุมคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีมติเห็นชอบให้รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ทั้ง 2 เส้นทาง ได้แก่ สายธานีรัถยา ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สถานีรังสิต และสายนครวิถี ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สถานีตลิ่งชัน รวมระยะทาง 41 กิโลเมตร กำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง 20 บาทตลอดสาย หรือเริ่มต้น 12 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 บาท ตามนโยบายของรัฐบาล โดยจะเริ่มวันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม 2566
ทั้งนี้ หลังจากปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะมีการประเมินโครงการเป็นรายปี เพื่อประเมินผลการดำเนินงาน ทั้งด้านตัวเลขผู้โดยสาร รายได้ รวมถึงจุดคุ้มทุนที่ไม่ต้องชดเชยรายได้ในอนาคต เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีแดงมีปริมาณผู้โดยสาร อยู่ที่ประมาณ 25,000 คนต่อวัน ซึ่งคาดว่านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรัฐบาล จะช่วยให้ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20 และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนโยบายดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนที่ใช้รถยนต์หันมาใช้บริการระบบรถไฟฟ้าตลอดจนระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ช่วยลดการใช้พลังงาน ลดมลพิษทางอากาศ ทำให้เกิดประโยชน์ด้านการขนส่ง และด้านอื่นๆ เช่น ลดระยะเวลาการเดินทางบนท้องถนน ช่วยลดปัญหาปริมาณฝุ่น PM 2.5 ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน ลดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพของประชาชน รวมถึงลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน เป็นต้น
ทั้งนี้รายละเอียดเงื่อนไขค่าโดยสารนั้น กำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง อัตราสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย (จากอัตราค่าโดยสารปัจจุบัน สูงสุด 42 บาท) ตลอดระยะเวลาเปิดให้บริการ ตั้งแต่ 05.00 – 24.00 น. ผู้โดยสารทั่วไปที่เดินทางตามระยะทางที่มีมูลค่าไม่เกิน 20 บาท ชำระค่าโดยสารตามจริง
สำหรับผู้โดยสารที่ได้รับสิทธิ์ลดหย่อน ที่เดินทางตามระยะทางมีมูลค่าการเดินทางมากกว่า 20 บาท ชำระค่าเดินทางเพียง 20 บาทเท่านั้น และผู้โดยสารที่ได้รับสิทธิ์ลดหย่อนที่เดินทางตามระยะทางมีมูลค่าเดินทางไม่เกินราคา 20 บาท คงได้รับสิทธิ์ลดหย่อนตามปกติ ทั้งนี้ เด็ก ผู้สูงอายุ และพระภิกษุ ยังคงได้รับส่วนลด 50% ส่วนนักเรียนและนักศึกษา ยังคงได้รับส่วนลด 10% จากอัตราค่าโดยสารเดิม โดยจะมีมูลค่าการเดินทางสูงสุดไม่เกิน 20 บาท
ส่วนผู้ที่ถือบัตรโดยสารประเภทบัตรเหมาจ่าย” TRANSIT PASS RED LINE X BMTA ที่เดินทางด้วยรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถโดยสาร ขสมก. จะไม่ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมในโครงการดังกล่าว ผู้โดยสารสามารถอยู่ในระบบรถไฟฟ้าได้ไม่เกิน 120 นาที หากอยู่ในระบบเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด จะคิดค่าธรรมเนียมอยู่เกินเวลาตามอัตราค่าโดยสารสูงสุด คือ 42 บาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ต.ค. 66)