สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานสถานการณ์ผลกระทบจากความไม่สงบในอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ต่อเศรษฐกิจการค้าของไทย โดยระบุว่า ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่มีมาอย่างยาวนาน ยกระดับรุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ หลังจากเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 66 กลุ่มฮามาส หรือองค์กรการเมืองติดอาวุธของชาวปาเลสไตน์ ซึ่งปกครองฉนวนกาซา เปิดปฏิบัติการ Al-Aqsa Flood ยิงจรวดเข้ามาในอิสราเอลเป็นวงกว้าง และส่งกองกำลังติดอาวุธเข้าไปโจมตีเมืองทางตอนใต้ของอิสราเอล โดยอ้างเหตุผลการโจมตีว่าเพื่อตอบโต้ต่อความโหดร้ายทั้งหมดที่ชาวปาเลสไตน์ต้องเผชิญจากอิสราเอลตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การโจมตีดังกล่าว ทำให้นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ออกแถลงการณ์ประกาศให้ “อิสราเอลเข้าสู่ภาวะสงคราม” และโจมตีตอบโต้กลุ่มฮามาส ขณะเดียวกัน ก็สร้างความกังวลให้กับทั่วโลกว่า สถานการณ์อาจลุกลามบานปลาย ยกระดับความตึงเครียดสู่ระดับภูมิภาค และจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคง และเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย
ผลกระทบต่อบรรยากาศการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกอยู่ท่ามกลางอุปสงค์ที่ชะลอตัวทั่วโลกอยู่แล้ว จากการใช้นโยบายการเงินตึงตัว การคงดอกเบี้ยสูงยาวนาน ส่งผลต่อกำลังซื้อผู้บริโภค และต้นทุนของผู้ผลิต โดยความตึงเครียดที่ปะทุขึ้นในตะวันออกกลาง หากขยายตัวเป็นวงกว้าง และอุปทานน้ำมันยังคงตึงตัวอยู่ อาจส่งผลให้ราคาพลังงานสูงขึ้นอีกในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งจะทำลายความพยายามของธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ที่พยายามจะควบคุมอัตราเงินเฟ้อ นั่นทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดเงินเฟ้ออีกระลอก และจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวลงมากขึ้น
ผลกระทบของสงครามต่อการค้าไทย
1. ผลกระทบทางตรง
– จากการประเมินผลกระทบทางตรงต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย กรณีที่สถานการณ์การสู้รบที่อยู่ในพื้นที่จำกัด (บริเวณฉนวนกาซา) ยังไม่มีการปิดประเทศ หรือปิดกั้นระบบการขนส่งทั้งหมด น่าจะยังไม่กระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังประเทศคู่ขัดแย้ง (อิสราเอลและปาเลสไตน์) หรือหากกรณีที่ไม่สามารถส่งออกไปได้ ก็จะไม่ได้ส่งผลต่อการส่งออกรวมของไทยมากนัก
ทั้งนี้ เนื่องจากอิสราเอลและปาเลสไตน์ไม่ใช่คู่ค้าสำคัญอันดับต้นๆ ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกันค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับปริมาณการค้าต่างประเทศของไทยยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ จึงเชื่อว่าสงครามดังกล่าว จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศในภาพรวมของไทยมากนัก
– ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเส้นทางที่มีสงคราม ผลกระทบที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นในพื้นที่ภัยสงครามในเชิงเศรษฐกิจการค้า เช่น ค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และค่าประกันภัยในเส้นทางที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ อาจปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งความล่าช้าในการขนส่ง
ทั้งนี้ อาจต้องติดตามสถานการณ์ท่าเรือนำเข้าที่สำคัญของอิสราเอลอย่างท่าเรือ Haifa ท่าเรือ Ashdod หากเกิดกรณีที่มีการยกระดับความขัดแย้งขึ้น เพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศต่อไป
2. ผลกระทบทางอ้อม
– ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก ตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนไปในทิศทางสูงขึ้น โดยหลังเกิดเหตุการณ์สู้รบ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 66 พุ่งขึ้นไปสูงกว่า 4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากความกังวลว่าสถานการณ์ความไม่สงบอาจกระตุ้นให้เกิดความไม่มั่นคงในภูมิภาค ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการขนส่งน้ำมันในตะวันออกกลาง
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลในอดีต พบว่า ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ มักจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความกังวลต่อการหยุดชะงักของห่วงโซอุปทานน้ำมันดิบ
อย่างไรก็ดี หากความขัดแย้งไม่ขยายวงกว้างมากขึ้น น่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากอิสราเอลและปาเลสไตน์ไม่ใช่ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ในตลาดโลก (พื้นที่สงครามมีการผลิตน้ำมันดิบเพียง 7.2 แสนบาร์เรลต่อวัน) และไม่ได้กระทบต่อการขนส่งน้ำมันที่คลองคลองสุเอซมากนัก
– ผลกระทบต่อการค้ากับกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ภูมิภาคตะวันออกกลาง มีโอกาสที่จะเปราะบางมากขึ้น จากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การแบ่งขั้วพันธมิตรสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และอาจมีโอกาสลุกลามเกิดความไม่สงบภายในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย
โดยในปี 65 การค้าระหว่างไทย-ตะวันออกกลาง คิดเป็นสัดส่วน 7.6% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย การส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 3.8% ของการส่งออกรวม (ขยายตัว 23.5%) และการนำเข้าคิดเป็นสัดส่วน 11.2% ของการนำเข้ารวม (ขยายตัว 53.5%) ซึ่งประเทศในกลุ่มนี้เป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เป็นเป้าหมายการส่งออกของไทยเพื่อชดเชยตลาดหลักที่ชะลอตัวในปีนี้ และเป็นแหล่งนำเข้าพลังงานสำคัญที่สุดของไทย
ดังนั้น หากสงครามระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ลุกลามสู่ความขัดแย้งในระดับภูมิภาค จะส่งผลให้แนวโน้มการส่งออกไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางได้รับผลกระทบ มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงตามความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ชะลอตัว ขณะที่การนำเข้าพลังงาน อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการด้านการขนส่งและอุปทานน้ำมันที่ลดลงในภูมิภาค
– ผลกระทบต่อไทย ในภาคการส่งออก หากสถานการณ์ลุกลามจนเกิดภาวะ shock ขึ้นในภูมิภาค เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 54-56 เหตุการณ์ “Arab Spring” ที่เกิดจากการลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลในตะวันออกกลาง และได้ลุกลามขยายวงกว้างสร้างความวุ่นวายทางการเมือง ทั้งในอียิปต์ ลิเบีย เยเมน และบาห์เรน ทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งขึ้นเหนือ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล กระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นทางการค้ากับตะวันออกกลาง และทำให้การส่งออกของไทยไปยังภูมิภาคดังกล่าว ขยายตัวในทิศทางที่ชะลอลง
โดยการส่งออกไปตะวันออกกลาง ในช่วง Arab Spring ปี 54 มีมูลค่า 10,772 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 11.4% ปี 55 มีมูลค่า 11,448 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 6.3% ปี 66 มีมูลค่า 11,516 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 0.6%
ส่วนการนำเข้า กรณีที่สถานการณ์ยังอยู่ในวงจำกัด ประเทศไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงต่ออุปทานน้ำมัน เพราะไม่ได้มีการนำเข้าน้ำมันจากอิสราเอลหรือปาเลสไตน์ และมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากหลากหลายแหล่ง
อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ขยายขอบเขตสู่ระดับภูมิภาค จะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าน้ำมันดิบของไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากภูมิภาคตะวันออกกลาง เป็นแหล่งนำเข้าสินค้าพลังงาน (น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ) ที่สำคัญของไทย โดยไทยนำเข้าสินค้าพลังงานจากตะวันออกกลาง คิดเป็นสัดส่วน 52.3% ของการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวทั้งหมดของไทย
ผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลมายังไทย
นักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยลดลง เนื่องจากการประกาศภาวะสงคราม ทำให้ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ความตื่นตระหนกสร้างความกลัว ทำให้นักท่องเที่ยวเก็บเงินเพื่อใช้สำหรับสิ่งจำเป็นต่อชีวิต มากกว่าที่จะเดินทางท่องเที่ยว อาจทำให้ไทยสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอล ประมาณ 16,000 ล้านบาทต่อปี (ประมาณการจากรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลในช่วงก่อนการเกิดโควิด-19 ที่มา: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)
ทั้งนี้ ใน 8 เดือนแรกของปี 66 (ม.ค.-ส.ค.) นักท่องเที่ยวอิสราเอลที่เดินทางมาเที่ยวไทย มีจำนวน 159,263 คน (คิดเป็น 0.9% ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติโดยรวมที่เข้ามาไทย) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 139.6%
อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลมีสัดส่วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด และการใช้จ่ายต่อหัวไม่ได้สูงมาก ดังนั้น การลดลงของนักท่องเที่ยวอิสราเอล จึงไม่น่าจะกระทบกับภาพรวมการท่องเที่ยวไทยมากนัก
ผลกระทบต่อการลงทุนกับอิสราเอล
นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในอิสราเอลจำนวนน้อยมาก แม้ว่าอิสราเอลจะเปิดกว้างรับนักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ 100% (ยกเว้นด้านการทหาร และความมั่นคง) โดยสาขาที่รัฐบาลอิสราเอลสนับสนุนเป็นพิเศษ ได้แก่ เคมีอินทรีย์ เครื่องมือแพทย์ พลังงานชีวภาพ โทรคมนาคม และ ICT
ทั้งนี้ ปัญหาที่นักลงทุนไทยและต่างชาติกังวล คือ เรื่องของความปลอดภัยจากภาวะสงคราม และต้นทุนการลงทุนที่สูง ทั้งค่าแรงขั้นต่ำ ค่าเช่าพื้นที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสาธารณูปโภค
อย่างไรก็ดี ไม่มีการลงทุนจากอิสราเอลในไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่า ในช่วงปี 63-65 มีโครงการลงทุนของอิสราเอลที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI จำนวน 11 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 186 ล้านบาท (ปี 63 มีจำนวน 1 โครงการ มูลค่า 1 ล้านบาท, ปี 64 มีจำนวน 4 โครงการ มูลค่า 147 ล้านบาท และปี 65 มีจำนวน 5 โครงการ 38 ล้านบาท) ทั้งนี้ ยังไม่มีโครงการใดได้รับการอนุมัติ
สุดท้าย ทางออกทางการทูตมีความจำเป็นเร่งด่วนต่อสถานการณ์นี้ ประชาคมโลกจะต้องร่วมมือกันไกล่เกลี่ย และกำหนดเส้นทางสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและสันติ เพื่อลดระดับความรุนแรงของวิกฤต และแสวงหาสันติภาพร่วมกันของประชาคมโลก
อย่างไรก็ดี บทเรียนของสงครามรัสเซีย-ยูเครน สะท้อนให้เห็นว่าความเสี่ยงที่วิกฤตจะยืดเยื้อยาวนาน จากรากฐานของปัญหาเกิดจากข้อพิพาทเรื่องอาณาเขตที่ดิน และอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ที่มีร่วมกันทางประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อน เมื่อไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง และความขัดแย้งได้บานปลายไปสู่การเผชิญหน้าทางทหารอย่างเต็มรูปแบบ จะก่อให้เกิดผลกระทบกระจายวงกว้างไปทั่วโลก
การค้าระหว่างไทย-อิสราเอล ปี 65
อิสราเอล เป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 42 ของไทย การค้าระหว่างไทย-อิสราเอล มีมูลค่า 1,401.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัว 10.0%) หรือ 49,182 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.2% ของการค้ารวมของไทยเท่านั้น
การส่งออกของไทยไปอิสราเอล อิสราเอลเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 38 ของไทย มีมูลค่า 850.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัว 2.9%) หรือ 29,728 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.3% ของการส่งออกของรวมของไทย
โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (สัดส่วน 28.6%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (9.6%) อัญมณีและเครื่องประดับ (9.6%) ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ (4.1%) ข้าว (3.8%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (3.0%) ผลิตภัณฑ์ยาง (3.0%) เม็ดพลาสติก (2.5%) ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (2.4%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (2.2%) เป็นต้น
การนำเข้าของไทยจากอิสราเอล อิสราเอลเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 45 ของไทย มีมูลค่า 551.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัว 22.9%) หรือ 19,455 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.2% ของการนำเข้ารวมของไทย
โดยมีสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี (สัดส่วน 26.1%) ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ (15.5%) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (10.3%) เคมีภัณฑ์ (6.2%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (5.6%) ยุทธปัจจัย (5.3%) เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ (5.3%) แผงวงจรไฟฟ้า (4.9%) ผัก/ผลไม้และของปรุงแต่ง (4.0%) ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก (2.1%) เป็นต้น
ตัวเลขการค้าระหว่างไทย-ปาเลสไตน์ ปี 65
ปาเลสไตน์ เป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 186 ของไทย การค้าระหว่างไทย-ปาเลสไตน์ มีมูลค่า 5.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัว 113.3%) หรือ 134.4 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.001% ของการค้ารวมของไทย
การส่งออกของไทยไปปาเลสไตน์ ปาเลสไตน์เป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 169 ของไทย มีมูลค่า 5.0 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 178.3 ล้านบาท (ขยายตัว 113.3%) คิดเป็นสัดส่วน 0.002% ของการส่งออกรวมของไทย
โดยมีสินค้าส่งออก อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (สัดส่วน 62.8%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (33.7%) กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ (2.1%) และเครื่องดื่ม (1.4%) เป็นต้น
การนำเข้าของไทยจากปาเลสไตน์ ปาเลสไตน์เป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 233 ของไทย โดยมีมูลค่านำเข้าน้อยมากเพียง 1,316 เหรียญสหรัฐ (ขยายตัว 408.1%) หรือ 44,157 บาท
โดยมีสินค้านำเข้า อาทิ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ (สัดส่วน 56.9%) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (22.1%) และนาฬิกาและส่วนประกอบ (21.0%)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ต.ค. 66)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, การค้า, ฉนวนกาซา, ปาเลสไตน์, อิสราเอล, เศรษฐกิจไทย