อินเตอร์เนชั่นแนลเอสโอเอส ร่วมรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพจิตทีดีในที่ทำงาน

อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส (International SOS) บริษัทผู้ให้บริการความช่วยเหลือด้านสุขภาพและความมั่นคงปลอดภัย ร่วมรณรงค์เรียกร้องให้องค์กรต่าง ๆ ตระหนักถึงความสำคัญของการมีสุขภาพจิตที่ดีสำหรับพนักงานทั่วโลก เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่เกิดวิกฤตรอบด้าน (polycrisis) และวิกฤตซ้อนวิกฤต (permacrisis) จึงทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาพจิตของพนักงานอันเนื่องมาจากความท้าทายเหล่านี้กลายเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมา โรคระบาดครั้งใหญ่ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก วิกฤตค่าครองชีพ ความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสถานที่ทำงานปัจจุบันสร้างแรงกดดันต่อบุคลากรและองค์กรทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ดร. โอลิเวอร์ แฮร์ริสัน ซีอีโอของโคอา เฮลท์ (Koa Health) ผู้นำระดับโลกด้านบริการดูแลสุขภาพจิตแบบดิจิทัล กล่าวว่า “เราอยู่ในช่วงเวลาที่ท้าทาย ทั้งจากแรงกดดันด้านค่าครองชีพทั่วโลก การฟื้นตัวจากโรคระบาด ความขัดแย้งในยุโรป ตลอดจนวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ด้วยบริบทนี้ การมีสุขภาพจิตที่ดีจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน พนักงานแต่ละคนนั้นใช้เวลาถึงหนึ่งในสามของชีวิตในที่ทำงาน ซึ่งหมายความว่านายจ้างจำเป็นต้องให้การสนับสนุนทางด้านสุขภาพจิตแก่พนักงาน ด้วยการป้องกันอันตราย และส่งเสริมสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมและเข้าถึงง่ายสำหรับทุก ๆ คน

องค์กรต่าง ๆ จะต้องดำเนินการเพื่อให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตและสุขภาวะของพนักงานทุกคนเป็นลำดับแรก เพื่อเสริมสร้างสุขภาพทั้งของทีมงานและธุรกิจ สมาชิกในทีมจะต้องเข้าถึงการสนับสนุนทางด้านสุขภาพจิตได้ทุกที่ทุกเวลาเมื่อต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาในแต่ละวัน หรือการดูแลรักษาจากแพทย์”

ดร.โรดริโก โรดริเกซ-เฟอร์นันเดซ ที่ปรึกษาด้านสุขภาวะและสุขภาพจิตระหว่างประเทศ (Global Health Advisor, Wellness and Mental Health) ของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส กล่าวว่า “การมองข้ามปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงานมักจะมาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่าย ไม่เพียงเฉพาะด้านการเงิน แต่ยังรวมไปถึงผลทางด้านอารมณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถละเลยได้ เพราะทุกคนจะได้รับผลสะท้อนจากเรื่องนี้ ตั้งแต่พนักงานรายบุคคลไปจนถึงองค์กรโดยรวม และเนื่องจากบุคลากรอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากเมื่อเข้ารับบริการทางด้านสุขภาพจิต องค์กรต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องจัดทำแผนการป้องกัน ตลอดจนให้คำปรึกษาและการสนับสนุนที่เหมาะสมแก่ทีมงานในราคาที่จับต้องได้

“องค์กรที่ทุ่มเทเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการมีสุขภาพจิตที่ยั่งยืนนั้นเข้าใจถึงความสำคัญและความจำเป็นในการจัดเตรียมข้อมูลเชิงลึกและทรัพยากร เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกรายได้ตระหนักถึงเรื่องของสุขภาพจิต และด้วยการตระหนักถึงความสำคัญของการมีสุขภาวะทางจิตที่ดี องค์กรต่าง ๆ จึงวางแผนจัดทำโปรแกรมสุขภาพจิตแบบองค์รวมสำหรับพนักงาน การดำเนินการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่มั่นคงและยืดหยุ่น พร้อมที่จะรับมือกับความซับซ้อนของภูมิทัศน์ในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”

ดร.โอลิเวอร์ แฮร์ริสัน ซีอีโอของโคอา เฮลท์ กล่าวเสริมว่า การขาดแคลนจิตแพทย์และนักจิตวิทยาที่ทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์นั้น ทำให้แม้แต่พนักงานที่เคยเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ก็ยังประสบปัญหาในการเข้าถึงการสนับสนุนที่ตนเองต้องการ และสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจรักษา เรายิ่งมีข้อมูลน้อยลงไปอีก ซึ่งนั่นหมายความว่าพนักงานเหล่านี้อาจต้องรอจนกระทั่งอาการแย่ลง จึงจะได้รับการรักษาเพื่อให้อาการดีขึ้น

ด้วยเหตุนี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส จึงนำเสนอกรอบการทำงานสำหรับองค์กรต่าง ๆ ในการดูแลสุขภาพจิตและสุขภาวะของพนักงาน ดังนี้

1.ส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานที่เกื้อหนุนกัน และแสดงความมุ่งมั่นของผู้นำองค์กร: สร้างวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงานที่ให้ความสำคัญและสนับสนุนการพูดคุยกันอย่างเปิดกว้างเกี่ยวกับสุขภาพจิต ตลอดจนรวมแผนงานด้านสุขภาพจิตเข้ากับนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง

2. ส่งเสริมความตระหนักรู้ด้านสุขภาพจิต: ดำเนินโครงการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพจิตอย่างครอบคลุม เพื่อลดการตีตราและส่งเสริมให้มีการพูดคุยกันแบบเปิดกว้าง

3. จัดเตรียมทรัพยากรที่เข้าถึงได้: จัดเตรียมชุดเครื่องมือด้านสุขภาพจิตให้พนักงานเข้าถึงได้ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว ตั้งแต่การให้คำปรึกษาไปจนถึงเครื่องมือแนะแนวตนเอง

4. ปรับให้เข้ากับความต้องการของแต่ละบุคคล: มีระบบการทำงานที่ยืดหยุ่นเพื่อรองรับความต้องการของแต่ละบุคคล และลดความเครียดที่เกี่ยวข้องกับงาน

5. การฝึกอบรมและให้ความรู้: จัดการฝึกอบรมด้านสุขภาพจิตเพื่อให้ทุกคนมองเห็น เข้าใจ และช่วยเหลือเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวกับความท้าทายด้านสุขภาพจิต

6. ติดตามและประเมินผล: ติดตามสอบถามความคิดเห็นและคอยเฝ้าระวังสุขภาพจิตของพนักงานอย่างต่อเนื่องผ่านการทำแบบสำรวจและแบบประเมิน เพื่อปรับโปรแกรมตามความจำเป็น

7. โปรแกรมช่วยเหลือพนักงาน (Employee Assistance Programs หรือ EAPs): จัดให้มี EAPs ที่ให้คำปรึกษาที่เป็นความลับและบริการสนับสนุนแก่พนักงาน ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพจิตแบบดิจิทัล เช่น Koa Foundations Wellbeing App จะช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถขยายผลการดำเนินโปรแกรม EAP และบริการที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนขยายขอบเขตการเข้าถึงการดูแลรักษาพยาบาล โดยที่ยังสามารถควบคุมหรือลดค่าใช้จ่ายลงได้เป็นอย่างมาก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ต.ค. 66)

Tags: , , ,