กทม. ตั้งเป้าระบบเตือนภัยพิบัติ-เหตุฉุกเฉิน พร้อมใช้งานได้ในปีงบประมาณนี้

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. แลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดเห็น และหารือเกี่ยวกับความร่วมมือ ร่วมกับ Ms. Mami Mizutori ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติในด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ผู้อำนวยการสำนักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Disaster Risk Reduction: UNDRR) และ Mr. Marco Toscano-Rivalta ผู้อำนวยการสำนักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UNDRR Regional Office for Asia and the Pacific)

น.ส.ทวิดา กล่าวถึงการดำเนินการในด้านต่างๆ ของกทม. เพื่อเป็นเมืองแห่งความหยุ่นตัว และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้เข้าร่วมเครือข่าย UNESCO creative city, Healthy City Network, การสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องของ Climate Change, SDGs และ Resilience ให้กับประชาชน

สำหรับระบบเตือนภัยของ กทม. คาดว่าภายในปีงบประมาณนี้ จะสามารถแจ้งเตือนโดยตรงทางโทรศัพท์มือถือต่อประชาชนในกรณีเหตุการณ์ภัยพิบัติ หรือเหตุฉุกเฉิน การแจ้งเตือนทาง Line Alert และ Line OA และกำลังพัฒนา Traffy Fondue Plus ให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกรับข้อมูลบริเวณสถานที่พักอาศัย หรือที่ทำงานของตน โดยปัจจุบัน กทม. มีการแจ้งเตือน และให้ข้อมูลเรื่อง PM 2.5 ฝน และน้ำท่วม แล้ว

ด้าน นายชัชชาติ กล่าวว่า เมืองแห่งความหยุ่นตัวในบริบทของกทม. คือ ความปลอดภัยในทุกมิติ โดยแบ่งออกเป็น ระดับใหญ่ คือระบบและการดำเนินการต่างๆ ของเมืองในการรับมือกับภัยพิบัติ ส่วนระดับเล็กๆ คือ ชีวิตความเป็นอยู่ของปัจเจกบุคคล

ทั้งนี้ ปัญหาโควิด-19 ทำให้หลายคนประสบปัญหาด้านต่างๆ บางคนกลายเป็นคนไร้บ้าน ซึ่งกทม. ต้องการช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้สามารถกลับมามีชีวิต มีสุขภาพที่ดี และสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้ในที่สุด

“ถ้ากทม. เป็นเมืองที่มีความหยุ่นตัว ก็จะเป็นการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน และความหยุ่นตัวเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความน่าอยู่ของเมือง ซึ่งจะตอบกับนโยบายกรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” นายชัชชาติ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ต.ค. 66)

Tags: , , , ,