ดอลลาร์อ่อนค่า แม้ข้อมูลจ้างงานสหรัฐแกร่งเกินคาด

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอีกเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (6 ต.ค.) แม้สหรัฐเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แข็งแกร่งเกินคาดก็ตาม โดยดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง หลังจากปรับตัวขึ้นในช่วงแรกขานรับการขยายตัวของการจ้างงานในเดือนก.ย. เป็นเดือนที่ 33 ติดต่อกัน

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.28% แตะที่ระดับ 106.0454

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับยูโร, ปอนด์, ฟรังก์สวิส, ดอลลาร์แคนาดา และโครนาสวีเดน แต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับเยน

ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะ 1.0591 ดอลลาร์ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กในวันศุกร์ (6 ต.ค.) จากระดับ 1.0550 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี (5 ต.ค.) ขณะที่เงินปอนด์ของอังกฤษแข็งค่าขึ้นแตะ 1.2244 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.2194 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะ 0.9094 ฟรังก์สวิสในวันศุกร์ จาก 0.9129 ฟรังก์สวิสในวันพฤหัสบดี, ดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะ 1.3655 ดอลลาร์แคนาดา จาก 1.3713 ดอลลาร์แคนาดา และดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะ10.9390 โครนาสวีเดน จากระดับ 11.0066 โครนาสวีเดน

แต่ดอลลาร์แข็งค่าแตะ 149.3570 เยนในวันศุกร์ จากระดับ 148.4060 เยนในวันพฤหัสบดี

ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเยนในวันศุกร์ หลังนายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงเพื่อซื้อเงินเยน และผลักดันค่าเงินเยนให้ต่ำกว่า 150 เยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์เมื่อต้นสัปดาห์นี้หรือไม่

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ (6 ต.ค.) ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 336,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 170,000 ตำแหน่ง ซึ่งตัวเลขการจ้างงานดังกล่าวนับเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. ส่วนอัตราการว่างงานยังทรงตัวที่ระดับ 3.8% ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าอาจลดลงสู่ระดับ 3.7%

สำหรับตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.2% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.3% และเมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.2% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% โดยตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ

นายไมเคิล เฟโรลี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเจพีมอร์แกน เชสระบุเมื่อวันศุกร์ (6 ต.ค.) ว่า รายงานการจ้างงานที่ร้อนแรงเกินคาดไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนพ.ย. แต่ข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างมากนั้นอาจเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ตลาดคาดการณ์ว่า มีโอกาสราว 68% ที่เฟดจะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนพ.ย. และมีโอกาส 58% ที่เฟดจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.

บรรดานักลงทุนจับตาการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐในสัปดาห์หน้า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ต.ค. 66)

Tags: , , ,