นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า วัคซีนซิโนแวกยังมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคโควิด-19 แม้ประสิทธิผลอาจไม่สูงมากนัก แต่มีผลวิจัยยืนยันป้องกันการเสียชีวิต และป่วยอาการรุนแรงได้ 100% ซึ่งมีการใช้งานจริงในหลายประเทศ เช่น ที่อินโดนีเซียสามารถป้องกันการป่วยที่มีอาการรุนแรงได้ 94% ป้องกันการป่วยแล้วนอน รพ.ได้ 96% และป้องกันการเสียชีวิตได้ 98%
ทั้งนี้ วัคซีนซิโนแวกยังสามารถป้องกันเชื้อสายพันธุ์อังกฤษได้อย่างอย่างมีประสิทธิผล แต่หากในอนาคตถ้าสายพันธุ์เปลี่ยนไปจึงค่อยมาว่ากันอีกครั้ง แต่สิ่งสำคัญคือเมื่อสั่งซื้อแล้วสามารถจัดส่งให้ได้ทันตามเป้าหมายที่รัฐบาลจะฉีดวัคซีนให้กับ 70% ของประชากร แต่วัคซีนตัวอื่นอาจจะต้องรอไปอีกนาน
“เมื่อมีโอกาสฉีดให้เร็วที่สุด เพราะวัคซีนมีพื้นฐานที่ผ่านการคัดเลือกทางวิชาการคือลดอาการรุนแรง ป้องกันการเสียชีวิต ถ้าท่านรอเนิ่นนานเกินไป เกิดโรคมาถึงตัวท่านก่อน แทนที่จะได้วัคซีนที่ป้องกันรักษาชีวิตไว้ได้ก็อาจช้าเกินไป”
นพ.เฉวตสรร กล่าว
ส่วนความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-7 ก.ค.64 ได้ฉีดให้ประชาชนทั่วประเทศแล้วรวม 11,619,618 โดส มีจำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม 8,494,230 ราย (จำนวนผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมด) และจำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม 3,125,388 ราย (จำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์) โดยเป็นวัคซีนซิโนแวก 6,744,401 โดส แอสตร้าเซนเนก้า 4,713,963 โดส และซิโนฟาร์ม 161,254 โดส
สำหรับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 10,777,748 โดส เมื่อวันที่ 4 ก.ค.64 พบ 3,008 ราย (27.91% ต่อแสนโดส) ได้แก่ เข้าเกณฑ์ร้ายแรง 1,129 ราย (10.48% ต่อแสนโดส) เสียชีวิต 173 ราย (1.61% ต่อแสนโดส) ผู้ป่วยในอื่นๆ เช่น มีไข้ 1,706 ราย (15.83% ต่อแสนโดส) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนยังอยู่ในระดับปลอดภัย
โดยผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณาข้อมูลดังกล่าวแล้วเสร็จ 398 รายและอยู่ระหว่างติดตามข้อมูล 913 ราย ซึ่งจากข้อมูลที่พิจารณาแล้วเสร็จ ได้แก่ เกี่ยวกับวัคซีน 67 ราย เช่น อาการแพ้วัคซีน ซึ่งทุกรายสามารถรักษาหาย, เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน 235 ราย เช่น อาการปวดบวม, เหตุการณ์ร่วมที่ไม่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน เช่น เจ็บป่วยรักษาหาย 29 ราย เสียชีวิต 58 ราย และไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 9 ราย
“การเสียชีวิตจะมีการเก็บข้อมูลไว้ อาจจะเกี่ยวหรือไม่ก็ได้ แต่จะเก็บข้อมูลไว้ก่อน เช่น กรณีสามี-ภรรยาที่จังหวัดยโสธร ที่เสียชีวิต 3 วันหลังฉีดวัคซีนเนื่องจากกินเห็ดพิษเข้าไป ซึ่งจะเห็นสาเหตุการเสียชีวิตมีความชัดเจน”
นพ.เฉวตสรร กล่าว
อาการผู้ป่วยในที่พบหลังฉีดวัคซีน
วัคซีนซิโนแวก | วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า |
---|---|
เวียนศีรษะ (21.57%) | ไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส (26.62%) |
ปวดศีรษะ (15.71%) | ปวดศีรษะ (25.49%) |
คลื่นไส้ (15.02%) | เวียนศีรษะ (22.56%) |
อาเจียน (13.03%) | คลื่นไส้ (18.65%) |
อ่อนเพลีย (9.10%) | อาเจียน (18.20%) |
ผื่น (6.96%) | อ่อนเพลีย (16.39%) |
ปวดกล้ามเนื้อ (6.75%) | ปวดกล้ามเนื้อ (15.34%) |
ถ่ายเหลว (5.93%) | ถ่ายเหลว (8.80%) |
ไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส (4.34%) | ไม่สบายตัว (8.05%) |
ไม่สบายตัว (4.14%) | ผื่น (4.81%) |
สำหรับการฉีดทั่วโลกนับถึงวันที่ 3 ก.ค.64 มีจำนวนรวม 3.19 พันล้านโดส โดยมีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส จำนวนกว่า 1.87 พันล้านโดส ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวัคซีนที่มีใช้งานอยู่ในขณะนี้มีความปลอดภัย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 64)
Tags: AstraZeneca, COVID-19, Sinovac, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, วัคซีน, วัคซีนซิโนแวก, วัคซีนต้านโควิด-19, เฉวตสรร นามวาท, แอสตร้าเซนเนก้า, โควิด-19