ก้าวไกล ยื่นร่างกม.นิรโทษกรรมคดีการเมือง ยุตินิติสงคราม

พรรคก้าวไกล ยื่นร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม คดีชุมนุมการเมือง ประท้วง เริ่มตั้งแต่กลุ่มพันธมิตรฯ นับวันปี 11 กพ. 49 เชื่อยุตินิติสงครามกับประชาชนไม่ว่าฝ่ายไหน จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า วันนี้พรรคก้าวไกลยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิด อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีสาเหตุที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้ออย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่การชุมนุมครั้งแรกของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 49 ซึ่งภายหลังลุกลามบานปลายจนในที่สุดก็เกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 49 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต่อมาก็ยังมีการรัฐประหารซ้ำอีกครั้ง เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.)

ซึ่งตลอดระยะเวลาตั้งแต่การชุมนุมครั้งแรกของกลุ่มพันธมิตรฯ มาจนถึงปัจจุบัน มีประชาชนจำนวนมากที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการชุมนุม หรือการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ และมีประชาชนจำนวนกว่าหลายพันคนถูกดำเนินคดี ตั้งแต่คดีเล็กๆ น้อยๆ จนไปถึงคดีข้อกล่าวหาร้ายแรงอย่างคดีความมั่นคง ซึ่งการดำเนินคดีต่างๆ เหล่านี้ ก็ยังดำเนินการมาถึงปัจจุบัน และยังไม่มีท่าทีที่จะยุติการดำเนินคดีแต่อย่างใด ส่วนจะครอบคลุมถึงคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยหรือไม่นั้น ต้องอยู่ในการวินิจฉัยของคณะกรรมการ

จากสถานการณ์ดังกล่าว พรรคก้าวไกลจึงเห็นว่า การจะทำให้สังคมไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติสุข เกิดความสุข ความสามัคคีกันในสังคมได้ ประชาชนที่ได้ถูกดำเนินคดี หรือมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน ต่างก็มีความเห็นว่า รัฐไม่มีความเคารพความเห็นต่างทางการเมือง ไม่เคารพต่อสิทธิมนุษยชน และสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง

ดังนั้น เพื่อให้สังคมไทยได้กลับมาเริ่มต้นกันใหม่ จำเป็นต้องยุติการใช้นิติสงครามต่อประชาชน ให้ประชาชนที่เคยแสดงออกทางการเมือง โดยมีเหตุจุงใจจากความขัดแย้งทางการเมือง ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ได้หลุดพ้นจากการถูกดำเนินคดี

“การจะถอนฟืนออกจากกองไฟ ต้องหยุด และยุตินิติสงคราม เพื่อเป็นก้าวแรกในการเริ่มต้นการสร้างความยุติธรรม และความปรองดองที่ยั่งยืนในสังคมไทยต่อไป” นายชัยธวัช กล่าว

สำหรับเนื้อหาสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่พรรคก้าวไกลเสนอ มีดังนี้

1. กำหนดให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวน และชุมนุมประท้วงทางการเมือง ตลอดจนการกระทำทางกายภาพ หรือการแสดงความคิดเห็นใดๆ ที่เป็นความผิดตามกฏหมายในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ. 49 หรือวันแรกของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ จนถึงวันที่พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับนี้ได้มีผลบังคับใช้ หากการกระทำดังกล่าวมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองนั้น ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดกับพันธะกรณีตามกฏหมายระหว่างประเทศ

2. การนิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุมถึงการกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม ซึ่งมีการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ ตลอดจนไม่นิรโทษกรรมการกระทำความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา และไม่นิรโทษกรรมการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113

3. กลไกในการนิรโทษกรรม กำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม โดยในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ชุดนี้ของพรรคก้าวไกลได้เสนอให้มีจำนวน 9 คน โดยให้อำนาจประธานรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้ง ประกอบด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน บุคคลที่ได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) บุคคลที่สส. เลือกอีก 2 คน แบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล 1 คน และฝ่ายค้าน 1 คน

นอกจากนี้ เพื่อให้มีความรอบคอบมากขึ้นจะมีองค์ประกอบที่มาจากผู้พิพากษา หรืออดีตผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม จำนวน 1 คน ซึ่งมาจากการเสนอในที่ประชุมใหญ่ของประธานศาลฎีกา และมาจากตุลาการ หรืออดีตตุลาการในศาลปกครองอีก 1 คน มาจากพนักงานอัยการหรืออดีตพนักงานอัยการอีก 1 คน ซึ่งต้องมาจากการนำเสนอของศาลปกครองและอัยการเอง และส่วนสุดท้ายคือเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

4. กำหนดสิทธิผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องมาจากระเบียบ ประกาศ คำสั่ง คำวินิจฉัย มติ หรือการกระทำของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำผิด เพื่อการนิรโทษกรรมตามพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับนี้ ให้มีสิทธิ์สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้เอง

นายชัยธวัช กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการคืนชีวิตใหม่ให้กับประชาชนที่โดนนิติสงคราม เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือแสดงออกในทางการเมืองใดๆ แล้วถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย ซึ่งประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่า สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของตัวเองในการเสริมสร้างบ้านเมืองโดยสันติ ได้รับการกระทบกระเทือน หรือการละเมิด

ทั้งนี้ เชื่อว่าการนิรโทษกรรมนี้ เป็นสิ่งที่สามารถเป็นไปได้ หากพรรคการเมืองต่างๆ มีเจตจำนงร่วมกัน ที่จะผลักดัน และหากพิจารณาให้ดีจะพบว่า พรรคการเมืองต่างๆ ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ หรือไม่ได้ปฏิเสธการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองแต่อย่างใด

นายชัยธวัช กล่าวว่า เชื่อว่าการยุติการต่อสู้ การยุติการดำเนินคดี การยุตินิติสงครามกับประชาชนไม่ว่าฝ่ายใด จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อให้ประชาชนทุกฝ่ายได้ใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยโดยสันติ หันหน้าเข้ามาหากัน เพื่อแสวงหาฉันทามติครั้งใหม่ของสังคมอีกครั้งในอนาคต

ด้านนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทะ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จะนำร่างพ.ร.บ.ที่ได้รับในวันนี้ ไปตรวจสอบความถูกต้องตามขั้นตอนต่อไปหากมีความคืบหน้าประการใดจะแจ้งให้ทางพรรคก้าวไกลทราบภายใน 7 วัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ต.ค. 66)

Tags: , ,