ผู้ว่าแบงก์ชาติ แนะไทยเร่งแก้โจทย์เชิงโครงสร้างศก.-แก้กม. เอื้อบรรยากาศลงทุน

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถางาน “Thailand Economic Outlook 2024 Change the Future Today” ในหัวข้อ “ประเมินสุขภาพเศรษฐกิจไทย” โดยระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันถือว่าฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภค ซึ่งแม้ในปีนี้ ธปท.จะปรับลดประมาณการ GDP ลงเหลือ 2.8% จากเดิมคาด 3.6% แต่ปี 67 ธปท.ได้ปรับ GDP เพิ่มขึ้นเป็น 4.4% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.8% ซึ่งสะท้อนกับทิศทางของเศรษฐโลกที่ฟื้นตัว และจะทำให้ภาคการส่งออกไทยปีหน้าได้รับอานิสงส์จากส่วนนี้

โดยเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน จะเห็นทิศทางที่ดีขึ้นจากดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายตัว เช่น การบริโภคภาคเอกชนใน Q2/66 โต 7.8% สูงสุดในรอบ 20 ปี, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ส.ค. 66 สูงสุดในรอบ 42 เดือน ส่วนรายได้นอกภาคเกษตร Q2/66 โต 2.4% ฟื้นตัวถึง 109% ของช่วงก่อนโควิด ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้าไทยแล้วถึง 19.5 ล้านคน คิดเป็น 67% ของช่วงก่อนโควิด โดยคาดว่าทั้งปีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะแตะ 28.5 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 35 ล้านคน ในปี 67

ขณะที่ด้านเสถียรภาพ พบว่า อัตราเงินเฟ้อ ส.ค.66 อยู่ที่ 0.9% ถือว่าต่ำสุดในอาเซียน เงินสำรองระหว่างประเทศ สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ที่ยังน่าเป็นห่วง คือ หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงถึง 90.7% ต่อ GDP

“มั่นใจว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจตกวูบ มีน้อยแล้ว เสถียรภาพโดยรวมก็โอเค แต่มีบางจุดที่ยังห่วงอยู่บ้าง เช่น หนี้ครัวเรือน ซึ่งคงจะอยู่กับเราไปอีกสักพัก” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ

ผู้ว่าฯ ธปท. ประเมินสุขภาพเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาว่า ในช่วงแรกที่เศรษฐกิจไทยประสบกับปัญหาการระบาดของโควิด เศรษฐกิจอาจเกิดภาวะช็อค จึงต้องจัดยาให้ตรงกับอาการ เช่น การใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ, การจัดหา Soft Loan, การใช้มาตรการพักชำระหนี้ เป็นต้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนไข้เริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ ดังนั้นคงไม่เหมาะจะใช้ยาแบบเดิม ต้องถอนคันเร่ง ธปท. จึงได้เริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนนโยบายการพักหนี้ในวงกว้างที่เหมือนการให้ยาสเตียรอยด์ก็ต้องค่อยๆ ถอดออก แล้วมาทำให้ตรงจุดมากขึ้น หันมาปรับโครงสร้างหนี้ การออกมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ เป็นการปรับการรักษาให้ตรงกับอาการที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

“เศรษฐกิจไทยหลังผ่านช่วงโควิด เปรียบเหมือนคนไข้ที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาลกลับมาพักที่บ้าน การฟื้นตัวจึงต้องใช้เวลาสักระยะ และระหว่างพักฟื้นต้องไม่ใช้ร่างกายหักโหม เช่น ไปวิ่งมาราธอน ส่วนโอกาสที่จะเกิดโรคอย่างเฉียบพลัน เช่น หัวใจวายนั้นคงไม่มี แต่อาจจะยังมีโรคที่เรื้อรังอยู่ไปอีกนาน เช่น เบาหวาน ก็ต้องค่อยๆ ปรับพฤติกรรมไป ไม่เช่นนั้นจะกระทบกับสุขภาพระยะยาว วิธีการรักษาต้องทำให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย ตอนนี้คงไม่ต้องเหยียบคันเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องมองระยะยาวในเชิงโครงสร้าง ปรับการรักษาให้ตรงกับบริบทของคนไข้” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ

ทั้งนี้ การดำเนินการเพื่อให้เศรษฐกิจไทยโตต่อได้เข้มแข็งและยั่งยืนอุปสรรคนั้น รัฐบาลควรต้องปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่ซ้ำซ้อน และล้าสมัย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ และส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการแข่งขันของไทย เช่น ขั้นตอนทางศุลกากร, การขออนุญาตของราชการ การออกใบอนุญาตทำงานและ VISA สำหรับแรงงานทักษะสูง ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะส่งเสริมบรรยากาศและดึงดูดความน่าสนใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ต.ค. 66)

Tags: , ,