ไต้หวันเปิดตัวเรือดำน้ำที่ผลิตเองลำแรกเพื่อเตรียมรับมือกับการรุกรานจากจีน โดยไต้หวันได้รับความช่วยเหลืออย่างลับ ๆ จากประเทศพันธมิตร
รายงานระบุว่า ในวันนี้ (28 ก.ย.) กระทรวงกลาโหมของไต้หวันได้จัดการทดลองทางทะเลครั้งแรกสำหรับเรือดำน้ำพลังดีเซล-ไฟฟ้าที่อู่ต่อเรือของบริษัทซีเอสบีซี คอร์ปในเมืองเกาสง โดยเรือดำน้ำลำนี้ซึ่งมีชื่อว่า “ไห่ คุน” (Hai Kun) เป็นหนึ่งในเรือใหม่ 8 ลำที่ได้รับการพัฒนาภายใต้โครงการมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของกองทัพเรือไต้หวันในกรณีที่เกิดสงครามกับจีน
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา จีนได้เพิ่มจำนวนเรือรบอย่างรวดเร็วบริเวณน่านน้ำใกล้กับไต้หวัน และแผนการปรับปรุงกองเรือรบเก่าของไต้หวันแสดงให้เห็นถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภัยคุกคามจากจีน ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ที่เรือรบของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจะเข้ามาล้อมเกาะไต้หวัน
จีนมองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งในดินแดนอธิปไตยของตน และให้คำมั่นที่จะผนวกรวมไต้หวันให้กลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีน แม้จะต้องใช้กำลังก็ตาม แต่รัฐบาลไต้หวันปฏิเสธคำกล่าวอ้างของจีน โดยยืนกรานว่า ไต้หวันเป็นประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยสมบูรณ์ทางพฤตินัย
ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ โครงการเรือดำน้ำนี้อาศัยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญและชิ้นส่วนต่าง ๆ จากทั่วโลก นอกจากเทคโนโลยีจากประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐ และอังกฤษแล้ว ไต้หวันยังจ้างวิศวกร ช่างเทคนิค และอดีตเจ้าหน้าที่กองทัพเรือจากออสเตรเลีย เกาหลีใต้ อินเดีย สเปน และแคนาดา ซึ่งนับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญสำหรับไต้หวันที่ถูกโดดเดี่ยวทางการทูต
ทั้งนี้ จีนคัดค้านอย่างหนักต่อประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไต้หวัน ซึ่งรวมถึงการขายอาวุธ ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศต้องดำเนินธุรกิจกับไต้หวันอย่างไม่เปิดเผย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.ย. 66)