ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27-28 ก.ค. โดยระบุว่า กรรมการ BOJ เห็นพ้องถึงความจำเป็นในการคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy) ในการประชุมวันดังกล่าว แต่กรรมการมีความเห็นที่ขัดแย้งกันในประเด็นที่ว่า BOJ ควรจะยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในเวลาที่รวดเร็วมากเพียงใด
รายงานการประชุมระบุว่า กรรมการคนหนึ่งของ BOJ กล่าวว่า BOJ ยังคงต้องใช้เวลาอีกนานมาก ก่อนที่จะสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ แต่กรรมการรายอื่น ๆ กล่าวว่า การบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ของ BOJ นั้น เริ่มปรากฏให้เห็นชัดขึ้น พร้อมระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่จะทำการประเมินว่า BOJ จะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. 2567 ได้หรือไม่
อย่างไรก็ดี รายงานการประชุมระบุว่า กรรมการหลายคนมีความเห็นตรงกันว่า BOJ จำเป็นต้องคงนโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษเอาไว้ในขณะนี้ เนื่องจากยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่า BOJ จะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพในระยะเวลาอันใกล้นี้
ในการประชุมเมื่อวันที่ 28 ก.ค. คณะกรรมการ BOJ มีมติคงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ -0.1% และคงเป้าหมายผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ราวระดับ 0% แต่ได้ปรับนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อบรรเทาความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบข้างเคียงที่เพิ่มขึ้นจากการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินมาเป็นระยะเวลานาน
ทั้งนี้ BOJ ระบุว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรดังกล่าวจะสามารถปรับตัวขึ้นหรือลงได้ราว 0.5% จากระดับเป้าหมายที่ 0% ซึ่งถือเป็นการกำหนดกรอบเพื่ออ้างอิง มากกว่าเป็นการกำหนดเพดานที่ตายตัว
ผลการประชุมในเดือนก.ค.ทำให้นักลงทุนในตลาดการเงินคาดการณ์ว่า BOJ อาจจะเริ่มถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ภายในปีนี้ หรือในปีหน้า แม้ว่านายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ ได้ปฏิเสธกระแสคาดการณ์ดังกล่าวก็ตาม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ย. 66)
Tags: BOJ, ธนาคารกลางญี่ปุ่น, นโยบายการเงิน, อัตราดอกเบี้ย, เงินเฟ้อ