มูดี้ส์เตือนสหรัฐชัตดาวน์อาจส่งผลผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ

มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ออกรายงานเตือนในวันจันทร์ (25 ก.ย.) ว่า หากหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐถูกปิดการดำเนินงานหรือชัตดาวน์ ก็จะส่งผลกระทบด้านลบต่อการประเมินความน่าเชื่อถือของสหรัฐ และจะสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของสถาบันและระบบธรรมาภิบาลของสหรัฐ เมื่อเทียบกับรัฐบาลของประเทศอื่น ๆ ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุด

อย่างไรก็ดี มูดี้ส์มองว่า การชัตดาวน์อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐแค่ในระยะสั้นเท่านั้น

ทั้งนี้ การให้บริการของหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐซึ่งรวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลเศรษฐกิจอาจจะสะดุดลง และพนักงานของรัฐบาลกลางจำนวนหลายพันคนอาจต้องหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง หากสภาคองเกรสไม่อนุมัติการใช้จ่ายสำหรับปีงบประมาณที่จะเริ่มต้นในวันที่ 1 ต.ค.นี้ โดยการเผยแพร่ข้อมูลเศรษฐกิจนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำหนดนโยบาย และนักลงทุนอาจต้องรอคอยข้อมูลเศรษฐกิจเหล่านี้อย่างไม่มีกำหนด หากหน่วยงานของรัฐบาลกลางถูกชัตดาวน์

“การชัตดาวน์จะส่งผลกระทบด้านลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ โดยการชัตดาวน์จะสะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดที่นำไปสู่การแบ่งขั้วทางการเมืองที่รุนแรงในสหรัฐ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อการกำหนดนโยบายด้านการคลัง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สถานะการคลังของสหรัฐอ่อนแอลง อันเนื่องมาจากการขาดดุลงบประมาณและความสามารถในการชำระหนี้ที่ถดถอยลงอย่างมาก” มูดี้ส์กล่าว โดยขณะนี้มูดี้ส์ให้อันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐที่ระดับ AAA

นับจนถึงขณะนี้ สภาคองเกรสสหรัฐยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการอนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวเพื่อช่วยให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐดำเนินการต่อไปได้ถึงวันที่ 1 ต.ค. อันเนื่องมาจากความเห็นที่ไม่ลงรอยกันของบรรดาสมาชิกพรรครีพับลิกัน

มูดี้ส์เตือนว่า ผลโดยกระทบโดยตรงที่เกิดจากการชัตดาวน์นั้นคือการทำให้การใช้จ่ายของรัฐบาลลดลง และหากการชัตดาวน์เกิดขึ้นเป็นเวลานาน ก็อาจจะส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง

เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของสหรัฐลงสู่ระดับ AA+ จากระดับ AAA เนื่องจากสถานะการคลังของสหรัฐมีแนวโน้มที่จะถดถอยลงในช่วง 3 ปีข้างหน้า ขณะที่ระบบธรรมาภิบาลอ่อนแอลง และภาระหนี้สินโดยรวมของสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น

“ภาวะชะงักงันทางการเมืองส่งผลให้หนี้สินของสหรัฐพุ่งชนเพดานครั้งแล้วครั้งเล่า และส่วนใหญ่จะรอดพ้นการผิดนัดชำระหนี้ในนาทีสุดท้าย ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ได้บั่นทอนความเชื่อมั่นในด้านการบริหารการคลัง ในมุมมองของฟิทช์นั้น ระบบธรรมาภิบาลของสหรัฐถดถอยลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงปัญหาการคลังและหนี้สิน แม้ว่าในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา สภาคองเกรสได้ตกลงระงับเพดานหนี้ไปจนถึงเดือนม.ค. 2568 ก็ตาม” ฟิทช์ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.ย. 66)

Tags: , ,