สมาคมนักข่าวฯ จัดเสวนา “ปฏิรูปตำรวจ” กู้วิกฤติศรัทธา หรือ ดิ่งเหว

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “ปฏิรูปตำรวจ” กู้วิกฤตศรัทธาหรือดิ่งเหว?” โดยนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า การปฎิรูปตำรวจมีการพูดกันมานานแล้ว ซึ่งงานของตำรวจต้องใกล้ชิดประชาชน ดูแลความปลอดภัย และสันติสุข แต่องค์กรตำรวจมีบุคลากรมากถึง 2-3 แสนคน และเป็นองค์กรรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง นอกจากนี้ ตำรวจยังเป็นองค์กรแห่งอำนาจชี้เป็นชี้ตายได้ เพราะมีอำนาจตั้งแต่จับกุม ควบคุมตัว ซึ่งทำให้คนสิ้นอิสรภาพ หรือทำให้คนได้รับอิสรภาพได้

รวมถึงยังมีระบบอุปถัมภ์ในองค์กรที่สืบทอดกันมานาน ทำให้มีการพูดถึงการซื้อขายตำแหน่ง การมีส่วย หรือมีการครอบงำโดยกระบวนการภายนอก ซึ่งเป็นผลประโยชน์มากมายมหาศาล ไม่ใช่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว แต่มีการค้ำชูซึ่งกันและกันในระบบอุปถัมภ์

ขณะที่อำนาจในการจัดซื้อจัดจ้างที่รวมศูนย์อยู่ที่ อบต. อบจ. มีกระบวนการเป็นที่รู้กันว่าใครสายใคร เพื่อมีส่วนช่วยให้อยูรอดปลอดภัยในการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะฉะนั้นระบบของประเทศไทยที่เป็น “รัฐซ้อนรัฐ” ที่มีทั้งเป็นไปตามกฎหมาย และเป็นระบบใต้ดิน ซึ่งระบบนี้ก็มีอยู่ในกระทรวง ทบวง กรม

เหตุใดจึงเกิดคดีเหล่านี้เป็นประจำไม่ว่าจะเป็นคดีบอส คดีผู้กำกับคลุมหัวผู้ต้องหา หรือมาคดีกำนันนกที่ฆ่าตำรวจตาย จะเป็นตัวอย่างที่แรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่โลกนี้เปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน แต่ทำไมยังอยู่ภายใต้อำนาจองค์กรใต้ดินเหล่านี้อยู่ ดังนั้นหากให้มีอำนาจรัฐซ้อนรัฐแล้วไม่กำจัดออกไป ในที่สุดแล้วจะเกิดกลียุค

“มันเริ่มผันแปร ถ้าไปอ่านที่เขียนไว้ในก็อดฟาเธอร์กระบวนการนี้เป็นการฟอกเงิน และฟอกคน เพื่อส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือแล้วส่งมาในองค์กรต่างๆ ก็อดฟาเธอร์บอกเลยว่า การสิ้นสุดลง คือมานั่งอยู่ในรัฐเอง มาเป็นรัฐมนตรีเอง มาเป็นผู้จัดการประเทศเอง” นายวิชา กล่าว

ส่วนการปฏิรูปองค์กรตำรวจนั้น นายวิชา กล่าววว่า ต้องปรับแก้ด้วยการลดองค์กรให้เล็กลง ไม่ใช่การรวมศูนย์อำนาจแบบนี้ เช่น เนเธอเร์แลนด์ แยกระหว่างตำรวจนครบาลและตำรวจภูธร ซึ่งอาจจำเป็นสำหรับเมืองใหญ่เพื่อการบริหาร โดยตำรวจภูธรให้แยกไปเลย เช่น ญี่ปุ่นมีของการแต่งตั้งด้วยตัวเองแต่ละจังหวัด และมีตำรวจชุมชนที่เรียกว่า “โคบัง” ที่ทำหน้าที่เป็นตำรวจของประชาชนไม่ใช่ตำรวจของ “นาย” จึงต้องสลายองค์กรอำนาจและมาร่วมมือกับชุมชน ที่สำคัญการฝึกอบรมต่างๆ ทำเพื่อสถาปนาอำนาจและคอนเนคชั่นเท่านั้น จนกลายเป็นการครอบงำจากวัฒนธรรมขององค์กรตำรวจด้วยกันเอง

“กระบวนการจัดการอย่างน้อยเรื่องของโรงพักใน พ.ร.บ.ตำรวจฉบับปฏิรูป ต้องทำเร่งด่วนในเรื่องคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมของตำรวจ ซึ่งจะเป็นส่วนดีๆ ของ พ.ร.บ.นี้ที่ต้องทำให้จริงจัง ถ้ารัฐบาลใหม่จริงใจ ช่วยนำพ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญาขึ้นมาได้หรือไม่ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 อยากให้นำมาปัดฝุ่น โดยให้สภาพิจารณาว่าเป็นอย่างไร เพราะขณะนี้มีการยกร่างไว้เรียบร้อยแล้ว” นายวิชา กล่าว

ส่วนตำแหน่งระดับนายพลตำรวจนั้น เห็นว่าองค์กรตำรวจเป็นรูปแบบเดียวกับกองทัพ จึงต้องนำรูปแบบตำรวจประชาชนมาใช้ ไม่ใช่รูปแบบองค์กรอำนาจที่ใช้ยุทโธปกรณ์ หรือการมีชั้นยศ ทำให้การทำงานของตำรวจที่ต้องแก้ไขปัญหาให้ประชาชนก็ถูกพรากออกไปด้วย

ด้านนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า คดีกำนันนก ถือเป็นเรื่องชั่วร้ายที่สะท้อนการคอรัปชั่นของระบบราชการ เป็นภาพระบบราชการที่ล้มเหลว ทุจริต คดโกง ขาดธรรมภิบาล ไร้ความผิดชอบชั่วดี ทำให้ข้าราชที่ดีต้องก้มหัวผู้มีอิทธิพล ถ้าเราไม่พูดเรื่องนี้คนดีจะไม่มีที่ยืนและสังคมไทยเดินต่อไปไม่ได้ โดยเฉพาะองค์กรภารครัฐจะล้มเหลวไม่มีใครจะเชื่อถือ ที่ผ่านมาตำรวจถูกร้องเรียนไปที่ ป.ป.ช.หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) อยู่เสมอ ก็เห็นว่าประชาชนไม่เชื่อมั่น และได้รับความเดือดร้อนจากองค์กรตำรวจ

สำหรับปัญหาส่วยทางหลวงที่เกิดขึ้นนั้น มีการร้องเรียนจากประชาชน หรือจากสมาคมการค้าทั้งไทยและต่างชาติว่ามีการเรียกเก็บส่วย เช่น ส่วยรถบรรทุกมีการชี้เป้าที่ส่วยสติ๊กเกอร์ที่มีเงินหมุนเวียนประมาณหมื่นล้านบาท โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐ คนในกระบวนการยุติธรรม หรือเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้

“กรณีกำนันนก ประชาชนเห็นชัดเจน เป็นการทำลายเกียรติภูมิของเครื่องแบบ…ต้องบอกว่า ถ้าจะปฏิรูปตำรวจ ประชาชนจะได้อะไร และตำรวจต้องไม่ตบทรัพย์ ต้องไม่ขอค่าดำเนินคดีกับประชาชน ต้องไม่ให้ประชาชนไปขอหลักฐานจากกล้องวงจรปิดเสียเอง หรือเรื่องตั๋วช้าง จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร ก็ขอ ผบ.ตร.คนใหม่ จะทำให้ประชาชนจดจำแบบไหนเท่านั้น” นายมานะ กล่าว

ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า คดีกำนันนก สะท้อนในหลายมิติมากกว่าที่เป็นข่าว เวลานี้จะหาทางออกอย่างไร จะพัฒนาตำรวจอย่างไร ซึ่งขณะนี้เป็นเรื่องขององค์กรแล้ว ไม่ใช่เป็นเรื่องของบุคคล ที่ผ่านมามาการวิ่งเต้นตำแหน่ง ทุกคนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในองค์กรนี้ ขณะเดียวกันคดีที่ประชาชนไปแจ้งความจากร้อยคดี ก็มีไม่เกิน 5 คดีเท่านั้นที่ได้ดำเนินการ และส่วนใหญ่เป็นคดีดัง แต่คนจนหมดสิทธิ ทำให้ประชาชนต้องไปร้องภาคส่วนอื่น หรือไปรายการข่าวดังๆ เท่านั้น

การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน จะต้องปฏิรูปองค์กรที่เป็นปัญหาทั้งระบบ โดยต้องลดระบบการปกครองออกจากรูปแบบมีชั้นยศแบบทหารห รือมีความคิดแบบทหาร แต่ตำรวจกลับนำวินัยทหารมาใช้ ทำให้โครงสร้างไม่สอดคล้องกับการทำงานให้ประชาชาชน เช่นเดียวกับตำรวจหลายแห่งทั่วโลก เพราะการไม่มียศจะเป็นมิตรกับประชาชนมากกว่า รวมถึงอยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถมีอำนาจตรวจสอบตำรวจได้ด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ย. 66)

Tags: