จากมติครม. “เศรษฐา 1” นัดแรก เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่มีมติเปลี่ยนจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็น 2 รอบใน 1 เดือน กลายเป็นไวรัลขึ้นเทรนด์ในโซเชียล ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งสนับสนุน และไม่เห็นด้วย
DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและเสียงของผู้บริโภค (Social Listening) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้รวบรวมการกล่าวถึง “เงินเดือนข้าราชการ” ในสื่อโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ยูทูป และทวิตเตอร์ ในช่วงวันที่ 13-14 ก.ย. 66 พบว่า ชาวโซเชียลได้มีการโพสต์และทวิตข้อความโดยมีจำนวนการกล่าวถึงและการมีส่วนร่วม หรือ Buzz (มาจากการกล่าวถึง (Mention) รวมกับการมีส่วนร่วม (Engagement)) ถึง 1,136,732 ครั้ง อันดับหนึ่ง มาจากช่องทางเฟซบุ๊ก 1,056,166 รองลงมาคือ อินสตาแกรม 51,109 ยูทูป 29,227 ตามลำดับ
นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า มติ ครม.แบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 ครั้ง สร้างปัญหาครั้งใหญ่กับฐานชีวิตที่แบกภาระหนี้เดือนชนเดือน ในแง่ชีวิตของประชาชนหรือข้าราชการ จะมีค่าใช้จ่ายที่ต้นเดือน และต้องจ่ายการผ่อนซื้อในแต่ละเดือนเต็มจำนวน ซึ่งไม่อาจจ่ายผ่อนที่ละครึ่งเดือนได้ เช่น ค่าผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ไฟฟ้า อินเตอร์เน็ต เป็นต้น ดังนั้น ระบบการเงินที่ผ่านมา เงินเดือนกับรอบหนี้ต้องจ่ายจึงสอดคล้องหรือตรงกัน
“ถ้าระบบใหม่จากนี้ไป โครงสร้างรัฐที่แก้ใหม่ให้จ่ายกันทีละครึ่งเดือน จึงไม่สอดรับกับการจ่ายผ่อนบ้าน หรือการชำระหนี้อื่นๆ ดังนั้น การแก้ปัญหาของนายกฯ จึงไม่ได้พิจารณาถึงค่าใช้จ่ายของชีวิตที่ล้วนผูกติดไว้กับภาระหนี้ที่อยู่ต้นเดือน แนวทางนี้อาจจะเกิดการต่อต้านจากข้าราชการ เพราะหาเงินมาทดแทนไม่ทัน จึงเป็นหลักคิดของรัฐบาลที่โหลยโท่ยที่สุด”
ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุถึงการเปลี่ยนระบบการจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็นทุกครึ่งเดือนว่า
1.เป็นการคิดแบบเร็ว ๆ หรือมีการศึกษาวิจัยอยู่เบื้องหลัง และสอบถามความเห็นจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง หรือยัง
2.ระบบการเบิกจ่ายเงินเดือนของกรมบัญชีกลาง ต้องมีการปรับใหม่ และทำเพิ่มเป็นสองรอบต่อเดือน เป็นภาระทางธุรการแก่ข้าราชการที่เกี่ยวข้อ เช่น คลังจังหวัด กองคลังของทุกหน่วยงานหรือไม่
3.ระบบเงินเดือนข้าราชการ ยังผูกกับเงินหักหนี้สินต่าง ๆ เช่น เงินกู้สหกรณ์ เงินหักส่งสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งหักเป็นรายเดือน ระบบดังกล่าวต้องแบ่งเป็นสองงวดตามด้วย หากแบ่งไม่ได้ จะเป็นการสร้างภาระแก่ข้าราชการในครึ่งเดือนแรก
4.ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ เงินกู้ธนาคาร หนี้บัตรเครดิต ทั้งหมดชำระเป็นรายเดือน และเป็นของเอกชน ที่อาจไม่สามารถขอผ่อนผันจ่ายเป็น 2 งวดต่อเดือนได้
5.คิดใหม่ ทำเร็ว ควรมีการศึกษาวิจัยและถามความเห็นจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องก่อน เพราะที่นี่ ไม่ใช่แสนสิริ และใครผ่อนคอนโดแสนสิริ อย่าลืมขอใช้สิทธิผ่อนเป็น 2 งวดต่อเดือนด้วย
นอกจากนี้ ยังมีคอมเม้นท์อื่น ๆ ที่ไม่เห็นด้วย อาทิ
– แนวคิดดี แต่ได้ประโยชน์น้อย เหมือนขี่ช้างจับตั๊กแตน แต่ถ้าทำโครงการพักชำระหนี้สถาบันการเงิน สำหรับข้าราชการ สัก 1-2 ปี พักเงินต้น คงชำระแต่ดอกเบี้ย อย่างน้อยข้าราชการจะได้มีเงินเหลือใช้แก้ปัญหาครอบครัวชั่วคราว และให้ข้าราชการสามารถนำเงินฝาก กบข. ฯลฯ ของตนเองมาใช้ก่อนได้บางส่วน หรืออาจเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินที่ให้ดอกเบี้ยต่ำๆ เพราะไม่มีความเสี่ยงเลย ได้ทั้งแก้ปัญหาหนี้ข้าราชการ และจะทำให้เกิดการใช้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างมหาศาล แค่อาจต้องแก้ไขกฎหมายแทน
– 2 รอบเฉพาะคนสมัครใจจะดีกว่ามั้ย งานแรกก็วุ่นวายซะแล้ว
– นายกฯ ไม่เคยจน ไม่เคยผ่อน ลำบากคนจนเลยทีนี้
– เพิ่มงาน 2 รอบ เพิ่มกระดาษ เพิ่มค่าใช้จ่าย คนทำงานในระบบเงินเดือนทุก ๆ ส่วน มึน วุ่น อย่างอื่นกระเทือน ระส่ำ
– สร้างปัญหาใหญ่ให้ข้าราชการอย่างมาก
– เพิ่มวันแบงค์ล่มอีก 1 วันต่อเดือน
– กองคลัง…ภาระงานเพิ่มขึ้น ผลลัพธ์เหมือนเดิม
– ควรปรับฐานเงินเดือน
– ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ บัตรเครดิต ค่าน้ำ ค่าไฟ เขายอมแบ่งจ่าย 2 งวดเปล่า
– เอาเงินข้าราชการไปหมุน เสริมทัพนโยบายเงินดิจิทัลหรือเปล่า
– คงจะเอามาหมุน 10000 แน่เลย
– การแบ่งจ่าย 2 งวดเงินเดือนราชการ คงช่วยอะไรไม่ได้มากถ้าใช้เงินมือเติบ ขาดวินัยทางการเงินเป็นเรื่องส่วนบุคคล
– คิดแบบนักธุรกิจ? คำสั่งของนายกฯ ส้มหล่น ไม่ได้อยู่เหนือมติคณะรัฐมนตรี ไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย ไม่ได้เป็นรัฐาธิปัตย์แน่นอนเพราะเป็นของรัฐ เริ่มสร้างปัญหาแล้ว ถ้าไม่ปรับแนวคิด/mindset
– เรื่องสำคัญๆ เรื่องด่วน ที่จำเป็นต้องทำ ต้องแก้มีมากมาย ไม่ทำ
– สิ่งที่ควรทำ คือ ปรับฐานเงินเดือน ป.ตรี เป็น 25,000 บาทตามที่หาเสียงไว้
– ต้องการเงินเดือน 25,000 ไม่ได้ต้องการจ่าย 2 รอบ
– คิดทำเรื่องที่มีประโยชน์มากกว่าเรื่องจ่ายเงินเดือนสองงวดจะดีกว่า เงินเท่าเดิม จะมาจ่ายสองงวดเพื่อประโยชน์อะไร หรือหางานเพิ่มให้ฝ่ายการเงินมีงานมากขึ้น
– เพิ่มเงินเดิอนหรือลดค่าครองชีพ ถึงจะแก้ปัญหาได้ตรงจุด
– สิ่งที่อยากให้แก้จริง ๆ คือระบบบัญชีระบบจ่ายเงินเดือนให้เทียบเท่าเอกชน จ่ายตกเบิกครู/พยาบาล ให้ตรงเวลาทุกหน่วยงานก่อน แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นแบ่ง 2 งวด
อย่างไรก็ตาม มีความเห็นที่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ได้แก่
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มองว่า จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการใช้จ่ายเงินในระบบเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้น และจีดีพีจะได้แรงหนุนในด้านบวกเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ ต้องดูวินัยการใช้เงินของข้าราชการด้วย ซึ่งเชื่อว่ากรมบัญชีกลาง จะเปิดให้มีการเลือกรับเงินเดือนตามความสมัครใจว่าต้องการรับรอบเดียว หรือแบ่งรับเป็น 2 รอบ
พร้อมกันนี้ ต้องดูการหารือระหว่างกระทรวงการคลัง กับสถาบันการเงินด้วย ว่าหากมีการแบ่งจ่ายเงินเดือน 2 รอบแล้ว สถาบันการเงินจะสามารถตัดแบ่งภาระการจ่ายหนี้ออกเป็น 2 รอบได้ด้วยหรือไม่
+ อาจจะลำบากตอนแรกนิดหน่อย แต่ถ้าทำเสร็จ ก็เป็นผลดีที่คุ้มค่ากับคนที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว
+ ถ้าคิดจะทำ ก็ให้เป็นการสมัครใจของข้าราชการแต่ละคน จะเลือกแบบไหนก็ได้ จะดีกว่า
+ พนักงาน ราชการระดับล่าง ที่เป็นคนส่วนใหญ่จะได้มีสภาพคล่องมากกว่าเดิม…ระบบเศรษฐกิจการค้าขายก็ไม่ต้องกระจุกตัวช่วงสิ้นเดือน
+ แนวคิดนี้ก็ไม่ใช่ไม่เคยมีใครคิด เขาคิดกันมานานแล้ว ถ้าทำได้มันก็ผ่อนปรนความตึงเครียดของข้าราชการชั้นผู้น้อยในอีกหลายๆ คนได้เหมือนกัน
+ กว่าจะรอสิ้นเดือน บางครั้งมีรายจ่ายที่ต้องจ่ายก่อน ก็ต้องหยิบยืมคนอื่นบ่อยๆ ก็เกรงใจเพื่อน
+ ให้รัฐบาลเขาทำงานก่อนได้ไหม อย่าเพิ่งตีตนก่อนไข้
+ ดีแล้วจะได้ทันใช้…ไม่ต้องรอทีเดียวสิ้นเดือน
+ ถ้าจุดประสงค์ คือ เพิ่มการใช้จ่ายให้เงินสะพัดขึ้น ส่วนตัวคิดว่าไม่ เพราะถึงได้รับเงินกลางเดือน เราก็ต้องเก็บเงินไว้รวมกับเงินที่จะได้รับปลายเดือนเพื่อใช้ในปลายเดือนอยู่ดี รายจ่ายหนัก และเป็นรายจ่ายประจำ จะอยู่ปลายเดือน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ต้นเดือนเป็นค่าบ้านค่ารถเลยไม่เห็นถึงประโยชน์ แต่ถ้าได้ก็ไม่ติด แต่ละคนก็ต้องเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการเงินกันให้ดีๆ แค่นั้น
+ หยุดเถียงเรื่องการจ่ายเงินเดือนให้ ขรก.เดือนละ 2 งวด เมื่อได้จริงแล้ว จะรู้ว่าดีกว่าเดิมมาก
+ แบ่งแบบนี้มีข้อดีตรงที่ทำให้เงินไม่ขาดมือ กดเงินมาใช้ฉุกเฉินในช่วงกลางเดือนได้ (ถ้าเป็นหนี้ก็ดองเงินไว้รอจ่ายสิ้นเดือนทีเดียวได้เต็ม)
อย่างไรก็ตาม หลังเกิดกระแสว่อนโซเชียล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้ออกมาชี้แจงว่า การแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ เป็นการเสนอทางเลือกใหม่ อาจจะมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ ขอยืนยันว่า รัฐบาลเสนอให้เป็นทางเลือก และรัฐบาลไม่ได้มีปัญหาเรื่องกระแสเงินสด เพราะจ่ายเร็วขึ้น แต่ว่าคำนึงถึงทุกมิติของการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ไม่เป็นภาระงบประมาณ เพราะนโยบายนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่ Re-Program การจ่ายเงินใหม่เท่านั้น ซึ่งเราคำนึงถึงวินัยการเงินการคลังด้วย
คงต้องจับตาต่อไป ว่านโยบายนี้จะเป็นการโยนหินถามทางหรือไม่ เพราะหากกระแสต้านมีมากกว่า ก็อาจต้องพับไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ย. 66)
Tags: Dataxet, DXT360, Social Listening, ดาต้าเซ็ต, เงินเดือน, เงินเดือนข้าราชการ, โซเชียลมีเดีย