“วิกรม” มองนโยบายเงินดิจิทัลเป็น “ยาแก้ปวด” จับตาแหล่งที่มา แนะขึ้นค่าแรงแบบขั้นบันได

นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น (AMATA) กล่าวถึงนโยบายภาครัฐว่าเป็นนโยบายที่ดี เปรียบเทียบเป็นการเกาที่ถูกจุด เป็นนโยบายที่ยึดด้านเศรษฐกิจมากขึ้น เนื่องจากประเทศต้องขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง โดยแนะนำรัฐบาลชุดใหม่ตั้งเป้าหมายในการดำเนินนโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งดูข้อมูลอ้างอิงจากประเทศต่าง ๆ ที่ใกล้เคียงกับประเทศไทยมาเป็นตัวอย่างและนำมาปรับใช้กับการพัฒนาประเทศไทย

รัฐบาลต้องตั้งเป้าหมายในการทำให้ GDP ของประเทศไทยเติบโตในระดับ 5-7% เพื่อทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ซึ่งมองว่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมเกิดจากการที่คนมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ดังนั้น การทำให้ GDP โตมากกว่า 5% หรือมากกว่าต้นทุน ทั้งอัตราดอกเบี้น เงินเฟ้อ ก็จะทำให้ประเทศเติบโตได้อย่างดี

สำหรับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นมาตรการที่ดี แต่มองว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยเชื่อว่าการช่วยคนที่มีปัญหาได้รับผลกระทบจากโควิดและกลุ่มคนจนโดยตรงก็จะเกิดประโยชน์ จำนวนเม็ดเงินเหล่านั้นจะมาช่วยกระตุ้นในภาคการผลิต เปรียบเหมือนยาแก้ปวด แก้ไขปัญหาได้ทันที

และสิ่งที่ต้องติดตามคือแหล่งที่มาของเงินที่จะเอามาใช้ในโครงการ ต้องคำนึงว่าเมื่อนำมาใช้แล้วจะก่อให้เกิดภาระของรัฐบาลหรือไม่ และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศอย่างไร เนื่องจากเป็นเงินส่วนรวม และต้องวางแผนในการบริหารเงิน เพื่อเอามาคืนในอนาคต

ส่วนของนโยบายการลดค่าพลังงาน ต้องดูตัวอย่างจากประเทศข้างเคียงที่มี GDP ใกล้เคียงกับประเทศไทยว่ามีการคำนวณต้นทุนต่าง ๆ อย่างไร แล้วปรับเปลี่ยนอัตราให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศนั้นๆ เนื่องจากการลดราคาพลังงาน หรืออะไรก็ตามที่มีผลต่อส่วนรวม ต้องมีที่มาและเหตุผลที่เหมาะสม ซึ่งจะไม่กระทบต่อการลงทุนของนักลงทุนที่เข้ามาในประเทศด้วย

“ถ้าเกิดรัฐบาลจะทำอะไร ไม่ใช่คุยไม่กี่คน ต้องมีการศึกษาและต้องทำการบ้าน จากประเทศข้างบ้านด้วย”

นายวิกรม กล่าว

ด้านนโยบายการขึ้นค่าแรง มองว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีการขึ้นค่าแรงทุกปี ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกปีเช่นเดียวกัน ไม่อย่างนั้นแรงงานก็จะดำเนินชีวิตอย่างยากลำบาก แต่การปรับขึ้นค่าแรงควรทำแบบขั้นบันได ไม่ใช่ก้าวกระโดดรวดเดียวตามระบบประชานิยม โดยมองว่าเศรษฐกิจและการเมืองต้องแยกออกจากกัน ต้องคำนึงถึงความเปราะบางของโครงสร้าง นายจ้างที่ต้องเข้ามารับผิดชอบด้วย ดังนั้นการขึ้นค่าแรงต้องมีเหตุผล ขึ้นเป็นขั้นเป็นตอนให้เหมาะสม และทุกฝ่ายต้อง All win คือได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง

“ทุกปีเราต้องคิดเรื่องแรงงาน เพราะต้นทุนสูงขึ้น แต่ต้องขึ้นอย่างเหมาะสมมีเหตุผล ขึ้นแบบขั้นบันได แต่ต้องทำให้ได้ ไม่ใช่ไปบอกให้ความหวังคน ควรตั้งเป้าหมายด้วย อีกกี่ปีจะขึ้นค่าแรง ต้องมีเป้าหมายในการขับเคลื่อน บนหลักของความเป็นไปได้ ไม่ใช่ฝันลมๆแล้งๆ”

นายวิกรมกล่าว

นายวิกรม กล่าวว่า สังคมควรให้โอกาสในการทำงานกับรัฐบาลชุดใหม่ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี อย่าเพิ่งโจมตีกันอย่างเดียว ควรให้โอกาสในการบริหารประเทศสัก 1 ปี เมื่อครบกำหนดแล้วค่อยมาถกเถียงกันว่านโยบายที่กล่าวมาทำได้จริงหรือไม่ ค่อยอัดให้เต็มที่ วันนั้นถ้ามีโอกาสก็จะไปร่วมวิจารณ์ด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ย. 66)

Tags: , , , ,