เมื่อเร็ว ๆ นี้ ข่าวการนัดหยุดงานประท้วงที่โรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี (LNG) ที่ออสเตรเลีย ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับตลาดพลังงานทั่วโลก และส่งผลให้ราคาก๊าซในยุโรปพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากออสเตรเลียคือผู้ผลิตก๊าซแอลเอ็นจีรายใหญ่ ซึ่งการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมพลังงานโลก และอาจลุกลามบานปลายกลายเป็นปัญหาใหญ่กว่านั้น
จุดเริ่มต้นของการนัดหยุดงานประท้วง เกิดจากความไม่พอใจสะสมของบรรดาแรงงานที่โรงงาน ทั้งในเรื่องสภาพการทำงาน ค่าแรง การจ้างพนักงานสัญญาจ้าง และปัญหาอื่น ๆ แม้มีการเจรจาหลายต่อหลายครั้งแต่ก็ไม่เป็นผล จนนำไปสู่การผละงาน และเรื่องถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลเพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน
แล้วเรื่องนี้มีต้นสายปลายเหตุอย่างไร In Focus ในสัปดาห์นี้ จะพาไปสำรวจพร้อม ๆ กัน
- ความสำคัญของโรงงานกอร์กอนและวีธสโตน
ออสเตรเลียคือประเทศผู้ส่งออกก๊าซแอลเอ็นจีมากที่สุดของโลก โดยข้อมูลจากสหภาพก๊าซระหว่างประเทศ (International Gas Union) ระบุว่า ออสเตรเลียส่งออกก๊าซแอลเอ็นจีในปริมาณ 80.9 ล้านตันในปี 2565 และ 79 ล้านตันในปี 2564 ส่วนโรงงานกอร์กอน (Gorgon) และโรงงานวีธสโตน (Wheatstone) ของเชฟรอนซึ่งเป็นบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของสหรัฐนั้น ส่งออกก๊าซแอลเอ็นจีในสัดส่วน 5% ของอุปทานก๊าซแอลเอ็นจีทั่วโลก โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน
เชฟรอน มีโรงงานผลิตแอลเอ็นจีขนาดใหญ่ที่รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ของออสเตรเลีย แห่งแรกคือ โรงงานวีธสโตน ตั้งอยู่บนชายฝั่งพิลบารา ห่างจากเมืองออนสโลว์ของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียไปทางตะวันตกประมาณ 12 กิโลเมตร โรงงานประกอบด้วยโรงผลิตก๊าซแอลเอ็นจี 2 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 8.9 ล้านตันต่อปี
แห่งที่สองที่คือ โรงงานกอร์กอน ตั้งอยู่บนเกาะแบร์โรว์ ห่างจากชายฝั่งพิลบารา ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 60 กิโลเมตร มีโรงผลิตก๊าซแอลเอ็นจี 3 แห่ง แต่ละแห่งมีกำลังผลิต 5.2 ล้านตันต่อปี รวมทั้งหมด 15.6 ล้านตันต่อปี
ข้อมูลจากกลุ่มผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวระหว่างประเทศ (International Group of Liquefied Natural Gas Importers) ระบุว่า โรงงานกอร์กอนส่งออกก๊าซแอลเอ็นจี 9.5 ล้านตันต่อปี ส่วนโรงงานวีธสโตนส่งออกก๊าซแอลเอ็นจี 8.05 ล้านตันต่อปี โรงงานทั้งสองแห่งยังสามารถผลิตก๊าซรวม 500 เทราจูลต่อวัน สำหรับตลาดในประเทศ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของก๊าซทั้งหมดที่ใช้ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย
- ปัญหาแรงงานที่นำไปสู่ข้อพิพาท
ในช่วงต้นเดือนส.ค. 2566 ปัญหาเรื้อรังเรื่องแรงงานที่โรงงานก๊าซแอลเอ็นจี ของวู้ดไซด์ เอเนอร์จี (Woodside Energy) บริษัทพลังงานรายใหญ่ของออสเตรเลีย และเชฟรอน ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ได้มาถึงจุดที่แรงงานทนไม่ไหวอีกต่อไป
สำหรับที่วู้ดไซด์นั้น กลุ่มแรงงานได้เข้าหารือกับทางบริษัท โดยกลุ่มพันธมิตรนอกชายฝั่ง (Offshore Alliance) ซึ่งเป็นตัวแทนของสหภาพแรงงานการเดินเรือและการประมงของออสเตรเลีย (Maritime Union of Australia) และสหภาพแรงงานออสเตรเลีย (Australian Workers’ Union) เป็นผู้นำในการเจรจา โดยในช่วงกลางเดือนส.ค.กลุ่มพันธมิตรนอกชายฝั่งได้เสนอเงื่อนไขต่อวู้ดไซด์เรื่องการปรับขึ้นค่าจ้าง การจำกัดการจ้างพนักงานสัญญาจ้าง และกฎการเปลี่ยนแปลงจำนวนพนักงานในแต่ละกะงาน
การเจรจาในช่วงแรกไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น แม้ทางวู้ดไซด์จะออกมากล่าวว่ากระบวนการกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี แรงงานจึงเสนอให้มีการโหวตเพื่อให้อุตสาหกรรมพลังงานของออสเตรเลียออกมาดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา และกลุ่มพันธมิตรนอกชายฝั่งเตือนว่าพนักงานจะนัดหยุดงานประท้วงในวันที่ 2 ก.ย. ที่นอร์ทเวสต์เชลฟ์ ซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติการลอยน้ำสำหรับการผลิตก๊าซแอลเอ็นจีในทะเล (North West Shelf Offshore Platforms) ของวู้ดไซด์
การเตือนว่าจะนัดหยุดงานประท้วงส่งผลให้ทางบริษัทเร่งหารือกับกลุ่มพันธมิตรนอกชายฝั่งอีกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการนัดหยุดงานประท้วง และบรรลุข้อตกลงในช่วงสิ้นเดือนส.ค. ในเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้าง ทำให้การจ้างพนักงานสัญญาจ้างและการปรับเปลี่ยนจำนวนพนักงานในแต่ละส่วนเป็นไปได้ยากขึ้น เรื่องปัญหาของวู้ดสโตนจึงจบลงเพียงเท่านี้ แต่ที่เชฟรอนนั้นยังไม่จบ
ทางฝั่งของเชฟรอนนั้น กลุ่มพันธมิตรนอกชายฝั่งกล่าวว่า บรรดาแรงงานของโรงงานกอร์กอนและวีธสโตนต้องการให้มีการปรับปรุงด้านสวัสดิการในการทำงาน สภาพการทำงาน การปรับขึ้นค่าจ้างที่น้อยเกินไป การกำหนดจำนวนพนักงานในแต่ละกะงาน กฎระเบียบด้านการทำงานนอกเวลาที่เป็นธรรม และการเดินทางไปมาระหว่างอาคารต่าง ๆ ในพื้นที่โรงงานของเชฟรอน รวมไปถึงการควบคุมพนักงาน กฎระเบียบที่ชัดเจนในการเลื่อนขั้นและปรับขึ้นค่าจ้าง รวมทั้งกฎระเบียบด้านการจ้างพนักงานสัญญาจ้างที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้กระทบกับพนักงานประจำ
กลุ่มพันธมิตรนอกชายฝั่งยื่นข้อเสนอว่า ค่าจ้างรายปีขั้นพื้นฐานที่ต้องการอยู่ระหว่าง 265,000 – 365,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง จะนับเป็นชัยชนะครั้งสำคัญสำหรับสหภาพแรงงานของเชฟรอน โดยในวันที่ 11 ส.ค. คณะกรรมาธิการแฟร์เวิร์ก (Fair Work Commission) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านแรงงานของออสเตรเลีย อนุญาตให้สหภาพแรงงานจัดการลงคะแนนเสียงเพื่อตัดสินใจว่าจะให้อุตสาหกรรมพลังงานเข้ามาดำเนินการแทรกแซงที่โรงงานกอร์กอนและวีธสโตนหรือไม่ ท่ามกลางการเจรจาอย่างต่อเนื่องกับเชฟรอน
ทางเชฟรอนไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขที่ทางกลุ่มพันธมิตรนอกชายฝั่งเสนอมา โดยกล่าวว่าเป็นคำขอที่มากเกินไป และมากกว่าบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม แต่กลุ่มพันธมิตรนอกชายฝั่งแย้งว่าค่าจ้างรายปีที่เสนอไปนั้นสอดคล้องกับข้อตกลงกับบริษัทอื่น ๆ อย่างวู้ดไซด์, เชลล์ (Shell) และอินเป็กซ์ (Inpex) เรื่องจึงบานปลายกลายกลายเป็นข้อพิพาท และนำไปสู่การตัดสินใจประกาศกำหนดวันนัดหยุดงานประท้วงในที่สุด
การประท้วงบางส่วนเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 8 ก.ย. และมีกำหนดนัดหยุดงานประท้วง 24 ชั่วโมงติดต่อกัน 2 สัปดาห์ โดยจะเริ่มต้นในวันที่ 14 ก.ย. แต่ทางสหภาพแรงงานยังไม่ได้ออกมายืนยันว่าจะหยุดงานประท้วงนานกว่านี้หรือไม่ นอกจากนี้ การเจรจาที่หาทางลงไม่ได้ ทำให้เรื่องไปถึงการไต่สวนอย่างจริงจังในศาล โดยมีกำหนดพิจารณาคดีเพื่อหาทางแก้ปัญหาในวันที่ 22 ก.ย.
- ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการนัดหยุดงานประท้วง
ก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้ว กลุ่มพันธมิตรนอกชายฝั่งเป็นผู้นำการนัดหยุดงานประท้วงที่ศูนย์ปฏิบัติการลอยน้ำสำหรับการผลิตก๊าซแอลเอ็นจีในทะเลของเชลล์มาแล้ว ซึ่งทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงได้ในที่สุด แต่การหยุดงานประท้วงที่ยาวนานส่งผลให้เชลล์สูญเสียมูลค่าการก๊าซส่งออกก๊าซแอลเอ็นจี ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการนัดหยุดงานประท้วงในครั้งนี้ ไอซีไอเอส (ICIS) บริษัทวิเคราะห์ข้อมูล ชี้ว่า การนัดหยุดงานจนถึงวันที่ 14 ก.ย. จะมีผลกระทบที่จำกัด โดยก๊าซแอลเอ็นจีประมาณ 95,000 ตันจะหายไปจากตลาด แต่การนัดหยุดงานที่กินเวลานานขึ้น ผลกระทบก็จะเกิดในวงกว้างมากขึ้น
ด้านนายบาเดน มัวร์ นักวิเคราะห์จากธนาคารออสเตรเลีย เนชั่นแนล แบงก์ (NAB) มีความเห็นที่คล้ายคลึงกัน โดยกล่าวว่า ในขณะที่ฤดูหนาวในซีกโลกเหนือกำลังใกล้เข้ามานั้น การนัดหยุดงานประท้วงอาจจะส่งผลให้แนวโน้มอุปทานในตลาดมีความตึงตัวมากขึ้น ท่ามกลางอุปสงค์ที่ฟื้นตัวจากจีน รวมถึงการหยุดชะงักด้านการผลิตที่เกิดขึ้นในนอร์เวย์
NAB เชื่อว่าตลาดก๊าซแอลเอ็นจีทั่วโลกยังคงมีความสมดุลอยู่ และการนัดหยุดงานประท้วงอาจก่อให้ก่อความผันผวนในตลาดในระยะสั้น แต่การนัดหยุดงานประท้วงที่กินเวลายาวนานขึ้นนั้น ผลกระทบก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นด้วย
ด้านนายซาอูล คาโวนิช นักวิเคราะห์ด้านพลังงาน กล่าวว่า การกำหนดวันพิจารณาในชั้นศาลอาจทำให้สหภาพแรงงานดำเนินการที่รุนแรงมากขึ้นในช่วงระยะเวลาก่อนถึงเส้นตาย โดยการนัดหยุดงานประท้วงอาจจะยืดเยื้อมากขึ้น และสหภาพแรงงานอาจรู้สึกว่าจำเป็นต้องประท้วงจริงจังมากกว่านี้ ในระหว่างมุ่งหน้าสู่กระบวนการในชั้นศาล
ราคาพลังงานยุโรปพุ่งขึ้น 14% หลังจากมีการหยุดงานประท้วงเกิดขึ้น โดยข้อมูล ณ วันที่ 12 ก.ย. สัญญาก๊าซส่งมอบเดือนต.ค.ที่ตลาดเนเธอร์แลนด์ พุ่งขึ้น 0.25 ยูโร สู่ระดับ 36.65 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง โดยความผันผวนของราคาก๊าซทั่วโลกสะท้อนให้เห็นว่าตลาดมีความอ่อนไหวต่อการหยุดชะงักของอุปทานที่อาจเกิดขึ้น แม้ว่าหลายประเทศในยุโรปและเอเชียจะมีการกักเก็บก๊าซสำรองในปริมาณที่ค่อนข้างสูง หลังจากที่รัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลให้ราคาพลังงานสูงขึ้น
- หนทางการแก้ไขปัญหาและบทสรุปที่ยังคลุมเครือ
ข้อพิพาทระหว่างแรงงานและเชฟรอนจะถูกนำขึ้นพิจารณาในชั้นศาล ในวันที่ 22 ก.ย. ซึ่งอาจนำไปสู่การยุติการนัดหยุดงานประท้วง โดยเชฟรอนคาดหวังให้คณะกรรมาธิการแฟร์เวิร์กหาทางบังคับใช้ข้อตกลงกับสหภาพแรงงานในการยกเลิกการนัดหยุดงานประท้วง หลังจากเชฟรอนออกมากล่าวก่อนหน้านี้ว่า ทางบริษัทไม่คิดว่าการเจรจากับสหภาพแรงงานจะช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะเคยเจรจามาเป็นเวลานานแล้ว แต่ไม่บรรลุผล และตัดสินใจเลือกใช้วิธีการทางกฎหมายแทน
สำนักงานของนายอดัม แฮทเชอร์ ประธานคณะกรรมาธิการแฟร์เวิร์ก กล่าวว่า จะพิจารณาเรื่องนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นในขั้นตอนนี้ และยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะใช้เวลาการไต่สวนนานแค่ไหน แต่เหตุพิพาทที่เกิดขึ้นส่งผลให้คณะกรรมาธิการต้องดำเนินการโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นกรอบเวลาจึงค่อนข้างเข้มงวด
คดีนี้จะเป็นบททดสอบที่สำคัญของกฎหมายใหม่ของออสเตรเลียที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนมิ.ย. ซึ่งให้อำนาจแก่ศาลในการทำให้คู่กรณีแต่ละฝ่ายบรรลุข้อตกลงกันได้ หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้เอง
เชฟรอนออกแถลงการณ์ระบุว่า คำตัดสินของศาลจะเป็นแนวทางที่ชัดเจนสำหรับทุกฝ่าย ในการแก้ไขข้อตกลง ส่วนทางกลุ่มพันธมิตรนอกชายฝั่งซึ่งเป็นตัวแทนสหภาพแรงงาน ยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นใด ๆ ในเรื่องการไต่สวน และก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพ.ย. 2565 ทางกลุ่มเคยออกมาโต้แย้งเรื่องการพิจารณาในชั้นศาลมาแล้ว
ด้านรัฐบาลของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย กล่าวว่า กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ไม่มีแผนจะแทรกแซงกระบวนการทางกฎหมายในขณะนี้ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อหาทางแก้ไขข้อพิพาทนี้
สถานการณ์ในขณะนี้ ยังไม่สามารถระบุได้ว่าแรงงานจะตัดสินใจอย่างไร อาจจะถอยหลังไปหนึ่งก้าว หรือเดินหน้าลุยหยุดงานประท้วงอย่างจริงจังมากขึ้นตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดพลังงานโลกอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ย. 66)
Tags: In Focus, LNG, SCOOP, ก๊าซธรรมชาติเหลว, ประท้วง, พลังงาน, ออสเตรเลีย