องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้เผยแพร่คำแนะนำการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) หรือ GenAI สำหรับการศึกษาเป็นครั้งแรกในวันนี้ (7 ก.ย.) พร้อมกับเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐบาลทั่วโลกเร่งออกกฎระเบียบในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการป้องกันข้อมูลส่วนตัวและจำกัดอายุของผู้ใช้งาน
ทั้งนี้ แชตบอต ChatGPT ซึ่งเป็น GenAI ที่พัฒนาโดยบริษัทโอเพนเอไอภายใต้การสนับสนุนของบริษัทไมโครซอฟท์และมีการเปิดตัวเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้วนั้น ได้กลายมาเป็นแอปพลิเคชันที่เติบโตรวดเร็วที่สุดจนถึงขณะนี้ และทำให้บริษัทเทคโนโลยีคู่แข่งพากันเปิดตัวแชตบอต ซึ่งรวมถึงบาร์ด (Bard) ซึ่งเป็นแชตบอตของบริษัทกูเกิล
บรรดานักเรียนต่างชื่นชอบ GenAI ซึ่งสามารถช่วยสร้างงานต่าง ๆ ตั้งแต่การเขียนเรียงความไปจนถึงการคำนวณทางคณิตศาสตร์ด้วยคำสั่งเพียงไม่กี่บรรทัด
“เรากำลังประสบกับความยากลำบากในการปรับความเร็วของการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความเร็วของการเปลี่ยนแปลงในความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในโมเดลการเรียนรู้ของ GenAI เหล่านี้ โดยหลายครั้งรัฐบาลและโรงเรียนก็เผชิญกับเทคโนโลยีที่ไม่คุ้นเคย” สเตฟาเนีย จิอานนีนี ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการศึกษาของ UNESCO เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์
ในเอกสารคำแนะนำด้านการใช้ GenAI ซึ่งมีความยาวถึง 64 หน้านั้น UNESCO ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของหลักสูตร AI สำหรับการศึกษาในโรงเรียน ทั้งในการศึกษาและฝึกอบรมทางด้านเทคนิคและวิชาชีพ
“ผู้จัดหา GenAI ควรมีความรับผิดชอบในการสร้างความเชื่อมั่นในแง่ของการให้ความสำคัญกับค่านิยมหลักและวัตถุประสงค์ทางกฎหมาย อีกทั้งควรเคารพทรัพย์สินทางปัญญา และยึดมั่นในหลักปฏิบัติทางจริยธรรม ขณะเดียวกันก็ควรจะป้องกันการแพร่กระจายข้อมูลอันเป็นเท็จ และคำพูดที่ทำให้เกิดความเกลียดชัง” UNESCO ระบุ
นอกจากนี้ UNESCO ยังเรียกร้องให้ทำการปกป้องสิทธิของครูและนักวิจัย รวมไปถึงคุณค่าในการปฏิบัติงานของพวกเขาเมื่อใช้ GenAI
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ย. 66)