นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงกรณีที่กองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เข้าจับกุม นายวิโรจน์ อิริยะโพธิ์งาม นายช่างโยธาอาวุโส สำนักงานเขตลาดกระบัง กรณีเรียกรับสินบน 50,000 บาท แลกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ว่า ล่าสุดนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง พร้อมมีคำสั่งให้ข้าราชการดังกล่าว ไปช่วยราชการที่กองแผนงานและประสานสาธารณูปโภค สำนักการโยธา ซึ่งเป็นส่วนงานที่ไม่มีการพบปะประชาชน โดยวันนี้ ปลัดกทม. จะลงนามในหนังสือสั่งพักข้าราชการรายดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) มีเรื่องร้องเรียนเรื่องข้าราชการโยธาทั้งหมด 40 เรื่อง เป็นเรื่องเรียกรับสินบนการขอออกใบอนุญาต 12 เรื่อง จาก 10 เขต
นายเฉลิมพล กล่าวว่า เรื่องเรียกรับผลประโยชน์ กทม. ได้ให้คณะทำงานฯ ไปสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงต่อไป ซึ่งถ้าเข้าข่ายทุจริต จะส่งไปสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามกรณี
อย่างไรก็ดี ถ้าเป็นเรื่องที่มีมูลไม่ถึงขั้นทุจริต แต่มีความผิดทางวินัย จะส่งให้ผู้อำนวยการ ศปท. หรือผู้ว่าฯ กทม. สั่งการไปที่ปลัดกทม. เพื่อให้ผู้มีอำนาจบรรจุแต่งตั้งได้ดำเนินการทางวินัยต่อไป
นายเฉลิมพล กล่าวว่า ในเรื่องทางวินัย อำนาจของคณะกรรมการสอบสวน สามารถสอบไปได้ว่าถ้ามีใครทำผิดวินัยเกี่ยวข้องด้วย ก็สามารถดำเนินการได้เลย ส่วนเรื่องทุจริต เป็นเรื่องทางอาญา ฝั่งพนักงานสอบสวนต้องขยายผล และต้องดูว่าที่ผ่านมาเคยมีหลักฐานหรือไม่
“จากกรณีดังกล่าว นายช่างโยธาได้ทำงานที่เขตลาดกระบังหลายครั้ง อาจทำให้เกิดการสร้างอิทธิพล และเกิดปัญหาการทุจริตได้ ซึ่งเรื่องนี้ผู้บริหาร และผู้ที่มีอำนาจในการบรรจุ โยกย้าย อาจต้องมีการพิจารณาทั้งระบบ สำหรับกรณีทุจริตในครั้งนี้ มีหนังสือสั่งการจากปลัดกทม.นานแล้ว ว่าห้ามเจ้าหน้าที่โยธารับเขียนแบบ” นายเฉลิมพล กล่าว
นายเฉลิมพล กล่าวถึงแนวทางในการแก้ปัญหาว่า ในระยะสั้น ต้องหาทางปิดกั้นช่องทางในการทุจริตให้ได้มากที่สุด ส่วนในระยะยาว หากมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น BMA OSS หรือการขอใบอนุญาตออนไลน์ จะช่วยลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ได้ เนื่องจากบุคคลผู้ขอใบอนุญาต และผู้ให้ใบอนุญาตจะไม่ต้องเจอกัน
นอกจากนี้ อาจให้ผู้บังคับบัญชาต้องมีส่วนรับผิดชอบ ซึ่งจะไม่สามารถอ้างว่าไม่รู้ไม่เห็นได้ ขณะที่ผู้อำนวยการเขต ที่เป็นผู้มีอำนาจในการออกใบอนุญาต หรือเซ็นคำสั่งต่างๆ จะต้องมีการตั้งระบบให้ดี เช่น การออกใบอนุญาตไม่ให้ใช้ดุลยพินิจคนเดียว เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ย. 66)
Tags: กทม., ทุจริต, สำนักงานเขตลาดกระบัง, เฉลิมพล โชตินุชิต