สภาวิชาชีพบัญชีฯ เร่งสอบจรรยาบรรณผู้สอบบัญชี STARK พร้อมวางกรอบมาตรฐานสร้างความเชื่อมั่น

นายวินิจ ศิลามงคล นายกสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ผู้สอบวิชาชีพบัญชีที่ได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ให้ความเห็นชอบและมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนดของก.ล.ต. ดังนั้น ผู้สอบบัญชีที่มีคุณสมบัติตรวจสอบการเงินของบริษัทจดทะเบียนได้จึงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของก.ล.ต. และสภาวิชาชีพบัญชี

กรณีของบมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) นั้น คณะกรรมการจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทำงานของผู้สอบบัญชีแล้ว อยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิดกับก.ล.ต. ที่อยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริงเช่นกัน ซึ่งสภาวิชาชีพบัญชีจะได้เร่งรัดสอบสวนเรื่องดังกล่าว

นายวินิจ กล่าวว่า สภาวิชาชีพบัญชีมีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการส่งเสริมและสนับสนุน ครอบคลุมการกำหนดมาตรฐานทางวิชาชีพบัญชีที่เป็นมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยจากกรณี STARK ทำให้สภาวิชาชีพบัญชีจะต้องมีการควบคุมการทำงานของสำนักบัญชี และผู้สอบบัญชีอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในเรื่องของคุณภาพ ซึ่งยอมรับว่ามีผลกระทบต่อในเรื่องค่าจ้างผู้สอบบัญชีที่อาจจะสูงขึ้น แต่ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานของประเทศไทย ซึ่งเป็นผลดีต่อภาคธุรกิจ และความเชื่อมั่นของประเทศ

ขณะเดียวกันยังต้องมีการทำงานกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมกับการเดินหน้าในการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ให้มีความทันสมัย มีคุณภาพมากขึ้น และทำให้สภาวิชาชีพบัญชีเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของผู้สอบบัญชี ซึ่งสภาวิชาชีพบัญชีเน้นย้ำในด้านคุณภาพ ความไว้วางใจ ความซื่อสัตย์ ความโปร่งใส และความเป็นอิสระ จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่ผู้ประกอบวิชาชีพและสภาวิชาชีพบัญชียึดถือมาโดยตลอด

จากกรณีของ STARK ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ลงทุนอาจตั้งข้อสังเกตที่สำคัญเพื่อการป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการลงทุน ได้แก่ การทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในธุรกิจของบริษัทที่ลงทุน ตลอดจนโครงสร้างของกลุ่มบริษัททั้งในและต่างประเทศ เข้าใจพื้นฐานและที่มา รวมถึงประวัติของผู้ถือหุ้น กรรมการ ผู้บริหาร และที่ปรึกษา ทิศทางและความชัดเจนของการลงทุน และการใช้เงินจากการระดมทุนในแต่ละครั้ง ความเข้าใจในรายละเอียดของหนังสือชี้ชวนการลงทุน ได้แก่ งบการเงินและข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ และพื้นฐานของสำนักงานสอบบัญชีที่ได้รับการแต่อตั้งจากกรรมการและผู้ถือหุ้น

“อยากให้ผู้ลงทุนทุกท่านมีการพิจารณาข้อมูลประกอบอย่างรอบคอบไปควบคู่กัน ซึ่งข้อมูลหากรอข้อมูลจากผู้สอบบัญชีอย่างเดียวอาจจะเป็นข้อมูลที่ช้าไป เพราะกว่าผู้สอบบัญชีจะเข้าไปตรวจสอบบัญชีได้ ก็ต้องรอบริษัทผู้ว่าจ้างทำเสร็จก่อน กว่างบการเงินที่บริษัทจัดทำเสร็จจะออกมาก็ใช้ระยะเวลานานแล้ว ส่วนกรณีการตรวจสอบ Deloitte ถือว่าเป็นเรื่องภายในของเขาที่ตรวจสอบกัน เราไม่สามารถไม่ก้าวล่วงได้ เราทำได้แค่ตรวจสอบผู้สอบบัญชีรายบุคคล” นายวินิจ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ย. 66)

Tags: , , , ,