กระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงกรณีดราม่าเมนู “ปังชา” ย้ำคำว่า “ปังชา” หรือ “Pang Cha” ผู้ประกอบการรายอื่นสามารถใช้ได้ แต่ห้ามจัดวางในลักษณะเดียวกันกับที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าได้จดไว้ ส่วนเมนู “น้ำแข็งไสชาไทย” ใครก็สามารถทำขายได้
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยตื่นตัว และให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอย่างมาก โดยมีการยื่นคำขอจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญากับกรมฯ มากกว่า 60,000 คำขอ/ปี ซึ่งนอกจากจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแล้ว ยังสามารถนำทรัพย์สินทางปัญญาไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างเป็นรูปธรรม
กรมฯ จึงอยากเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการไทยศึกษาและทำความเข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาแต่ละประเภท เพื่อให้ภาคธุรกิจไทยสามารถนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและถูกวิธี
สำหรับประเด็นที่มีกระแสข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับเมนู “ปังชา” น้ำแข็งไสรสชาไทยใส่ขนมปัง ซึ่งมีผู้ประกอบการรายหนึ่งอ้างสิทธิในการได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร และลิขสิทธิ์นั้น ต้องทำความเข้าใจว่า เครื่องหมายการค้า ได้รับจดทะเบียนไว้แบบไหนจะคุ้มครองตามรูปแบบที่จดได้ และเฉพาะการใช้คู่กับสินค้า หรือบริการที่ระบุไว้ในคำขอเท่านั้น
กรณีนี้ผู้ประกอบการดังกล่าว ได้ยื่นจดเครื่องหมายการค้ากับกรมฯ ไว้ 9 เครื่องหมาย ทุกเครื่องหมายมีการสละสิทธิคำว่า “ปังชา” และ “Pang Cha” ยกเว้นคำขอเลขที่ 220133777 ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่มีองค์ประกอบของคำว่า Pang Cha และรูปไก่ประดิษฐ์วางอยู่ในวงรี โดยผู้ยื่นคำขอได้นำส่งหลักฐานว่ามีการใช้เครื่องหมายนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย
กรมฯ จึงรับจดทะเบียน โดยไม่มีการสละสิทธิคำว่า Pang Cha โดยเป็นไปตามหลักของกฎหมาย ซึ่งผู้ประกอบการมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายนี้ ตามองค์ประกอบของคำ และภาพตามที่ได้รับจดทะเบียน แต่ไม่สามารถดึงเฉพาะบางส่วนของเครื่องหมาย คือ คำว่า “Pang Cha” มาอ้างว่าเป็นเจ้าของสิทธิแต่เพียงผู้เดียวได้
“ดังนั้น ขอย้ำว่า บุคคลอื่นยังสามารถนำคำนี้ไปใช้ได้ แต่ต้องไม่ใช้ทั้งภาพ และคำ ในรูปแบบเดียวกันกับที่ผู้ประกอบการรายนี้ได้รับจดทะเบียนเอาไว้แล้ว เพราะจะเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าได้” นายวุฒิไกร ระบุ
ส่วนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการรายนี้มีการจดทะเบียนภาชนะสำหรับใส่ปังชาไว้แล้ว แต่ไม่ได้จดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรในสูตรปังชา ซึ่งเป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว ผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีเมนูน้ำแข็งไสรสชาไทย จึงสามารถทำขายต่อไปได้
นายวุฒิไกร ฝากถึงผู้ประกอบการว่า การออกแบบเครื่องหมายการค้า ควรเลือกใช้คำหรือภาพที่ไม่สื่อถึงประเภท คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าและบริการที่ขาย เพราะไม่มีใครสามารถอ้างสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในคำหรือภาพเหล่านั้นได้ ซึ่งผู้ประกอบการอาจยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในประเด็นนี้
อย่างไรก็ดี หากมีคำถามเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IPAC) ชั้น 4 กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือโทรสายด่วน 1368
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ส.ค. 66)
Tags: กรมทรัพย์สินทางปัญญา, ปังชา, วุฒิไกร ลีวีระพันธุ์