นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เผยแพร่บทความ “ได้รัฐบาลใหม่ : มีผลกับมูลค่าหุ้น หรือว่าแค่ Sentiment” โดยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงตัวนายกฯ และพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเปลี่ยนพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จึงมีผลอย่างมากต่อระดับการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ส่งผลมาถึงผลประกอบการและการเติบโตของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญของการประเมินมูลค่าหุ้น
หลังจากรอมากว่า 3 เดือนหลังเลือกตั้ง เราก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว คือ นายเศรษฐา ทวีสิน ส่วนทีม ครม.นั้น คงจะได้ทราบชื่อชัดเจนและเริ่มทำงานได้ประมาณกลางเดือนกันยายนนี้
การจัดตั้งรัฐบาลใหม่นี้ มีพรรครวมกัน 11 พรรค รวม 314 เสียง โดยมีการดึงพรรคที่เคยอยู่ในรัฐบาลเดิมมา 5 พรรค แต่กลับไม่มีพรรคก้าวไกลที่เคยเป็นพันธมิตรสำคัญ อีกทั้งยังต้องอาศัยเสียง สว. อย่างน้อย 61 เสียง ซึ่งที่สุดก็ได้เสียงโหวตเกินเป้าหมาย รวมถึงได้เสียงแถมจาก สส.พรรคประชาธิปัตย์มาอีก 16 เสียง ทั้งที่ไม่ได้ประกาศเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
ในการประเมินมูลค่าหุ้นนั้น โครงสร้างหลักๆ มาจากการคาดการณ์ EPS ในปีอนาคต การคาดการณ์ระดับอัตราดอกเบี้ยที่ไม่มีความเสี่ยง (Rf) และประเมินระดับความเสี่ยงของหุ้นที่ลงทุน (Risk Premium)
ด้วยความที่ รัฐบาลเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ ซึ่งครอบคลุมไปถึงการบริหารเศรษฐกิจ ผลสำเร็จในการบริหารเศรษฐกิจนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการผลักดันนโยบายสำคัญของพรรครัฐบาล ซึ่งจะมากหรือน้อย ได้ผลหรือไม่ได้ผล ก็ขึ้นกับความมุ่งมั่นและความสามารถของรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุด
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงตัวนายกฯ และพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเปลี่ยนพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จึงมีผลอย่างมากต่อระดับการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ส่งผลมาถึงผลประกอบการและการเติบโตของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญของการประเมินมูลค่าหุ้น
ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้ดูแล และมีตัวแปรมากมาย ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยของไทยยังคงปรับขึ้นตามหลังอัตราดอกเบี้ยโลก แต่ปัจจัยสถานะและศักยภาพของรัฐบาลรวมถึงนายกรัฐมนตรีนั้น มีผลกับการยอมรับจากนานาชาติ จึงมีส่วนกับทิศทาง Fund Flow และมีส่วนกับการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่กระทบไปถึงค่าเงิน สภาพคล่องในระบบ และระดับอัตราดอกเบี้ย ผู้ลงทุนคงต้องติดตามดูว่าทิศทาง Fund Flow จะเริ่มไหลกลับเข้ามาตามคาดหรือไม่ รวมถึงการมุ่งมั่นออกไปเจรจาการค้าตามที่นายกฯ เศรษฐาเคยประกาศไว้ช่วงหาเสียง จะได้ผลสำเร็จเพียงใด อย่างไรก็ตามผมตั้งความหวังว่า ผลดีเหล่านี้จะส่งดอกออกผลในราวต้นปี 67
นอกจากนั้นแล้ว ในมุมของ Risk Premium ต้องนับว่าระดับความมั่นคงของรัฐบาล และการยอมรับของประชาชน การยอมรับของนานาชาติ เป็นส่วนหนึ่งของความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจและราคาหุ้น ปรากฏการณ์ในหลายสิบปีของประเทศไทย น่าจะเป็นสิ่งยืนยันในเรื่องนี้ เมื่อมีความเสี่ยงทางการเมืองมากขึ้น ราคาหุ้นก็จะตกดำดิ่ง เมื่อความเสี่ยงลดลง ราคาหุ้นก็จะทะยานขึ้น เป็นเช่นนี้เสมอมา
สรุปจากเหตุผลต่างๆ ข้างต้น การพิจารณาตัวแปรในการวิเคราะห์มูลค่าหุ้น จึงต้องมีการประเมินสถานะความมั่นคง และศักยภาพของคณะรัฐบาลรวมถึงนายกรัฐมนตรี
เมื่อมามองการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลและผู้เป็นนายกฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดทางการเมืองในรอบ 9 ปี ซึ่งผมจะกล่าวในมุมที่โยงมาถึงการวิเคราะห์เพื่อการลงทุนเท่านั้น โดยไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์ในมุมของคอการเมือง และมีประเด็นดังนี้
1.ความมั่นคงของรัฐบาลใหม่ มีสูงกว่ารัฐบาลเดิม เท่ากับตัวแปรด้าน Risk ลดลง จึงส่งผลทางบวกต่อมูลค่าหุ้น
- หลังจากผ่านการโหวตเป็นนายกฯ แล้ว ต่อจากนี้ไป การทำงานในสภา พรรครัฐบาลจะต้องการเสียง สส. ที่เกินกว่า 250 เสียง แต่พรรคร่วมมี สส. 314 เสียง สูงกว่ารัฐบาลเดิมมาก อีกทั้งยังมีเสียงสำรองจาก สส. ของประชาธิปัตย์ กลุ่มใหญ่ราว 20 เสียง พอจะช่วยป้องกันการต่อรองของพรรคร่วมได้ดีระดับหนึ่ง
- ทีมพรรคเพื่อไทยได้รับการยอมรับจากผู้ลงทุนส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ลงทุนต่างชาติ จากประวัติผลงานการบริหารเศรษฐกิจสมัยที่เคยเป็นรัฐบาล รัฐบาลใหม่มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นมากในสายตาของนานาชาติ อีกทั้งการเลือกนายเศรษฐา ทวีสิน มาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นนักบริหารที่ประสบความสำเร็จในการนำพาองค์กรขึ้นเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศมาแล้ว มีการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทยจึงน่าจะผลักดันนโยบายหลักทางเศรษฐกิจไปได้ด้วยดี
- ทุกพรรคนอกจากพรรคก้าวไกล ไม่อยากเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว ซึ่งนอกจากจะต้องใช้เงินทุนเยอะแล้ว ยังน่าจะถูกพรรคก้าวไกลกวาดเก็บยึดส่วนแบ่งที่นั่ง สส.อีกด้วย ดังนั้น การต่อรองและบีบคั้นของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีต่อพรรคเพื่อไทย คงไม่รุนแรงเกินรับได้ จึงไม่มีความเสี่ยงที่จะใช้กระบวนท่ายุบสภาในช่วงอย่างน้อย 2-3 ปีแรก จึงหวังว่ารัฐบาลใหม่นี้น่าจะอยู่ได้นานกว่าที่คอการเมืองวิจารณ์กันอยู่ ในเบื้องต้นใช้สมมติฐานที่ 3-4 ปี นานพอที่จะฟื้นเศรษฐกิจไทยขึ้นไปได้
- ตัวแปรเรื่องนี้ในเบื้องต้นใช้สมมติฐานว่ามีผลบวกกับมูลค่าหุ้น 5%
2.ความคาดหมายด้านการเติบโต ปี 66 ต้องปรับลด แต่จะเพิ่มปี 67-69
- ความล่าช้าของการจัดตั้งรัฐบาลน่าจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจช้าลง จึงส่งผลให้คาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนปี 66 ต้องลดลง ในเบื้องต้นคาดการณ์ลดลงประมาณ 2%
- แต่เมื่อรัฐบาลใหม่เข้าทำหน้าที่จัดทำงบประมาณเสร็จ และเร่งทำตามนโยบายเศรษฐกิจหลัก ผลบวกชัดเจนจะเกิดขึ้นตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 67 และเชื่อว่าบรรดานักวิเคราะห์และผู้ลงทุนจะเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ ส่งผลให้คาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 67-69 สูงกว่าสมมติฐานยุครัฐบาลเดิม อีกปีละ 2% รวม 3 ปี เท่ากับ 6%
3.นโยบายสำคัญที่รัฐบาลใหม่จะเร่งมือ ส่งผลบวกต่อหลายธุรกิจ
- ส่งเสริมภาคท่องเที่ยวตามที่เราได้ทราบ งานวันแรกที่นายกฯ เศรษฐา ดำเนินการทันที คือ บินไปหารือภาคท่องเที่ยวที่จังหวัดสำคัญหลายจังหวัด เชื่อว่าเมื่อเข้าบริหารจริง รัฐบาลจะเน้นหนักทันทีในการโปรโมทเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผลบวกของนโบายนี้ จะกระจายความดีไปทั้งธุรกิจโรงแรม อาหาร ค้าปลีก ส่งผลถึงการจ้างงานทำให้มีรายได้เติมกำลังซื้อให้ผู้บริโภคอีกด้วย
- การเติมกำลังซื้อให้ประชาชนแบบกระจายไปทุกชุมชนโดยการส่งเงินเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลทันที 10,000 บาท ในกลางไตรมาส 1 ปี 67 เงินเหล่านี้จะทำให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยสินค้าหลากหลาย ทั้งอาหารการกิน เครื่องใช้ไม้สอย ของใช้นานาชนิด จุดที่น่าติดตามดู คือความเชื่อเรื่องการหมุนหลายรอบทางเศรษฐกิจจากการกระตุ้นแรงๆ ครั้งนี้
- ส่วนนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรี เป็น 25,000 บาท ตั้งเป้าภายในปี 70 ต้องติดตามว่าจะใช้วิธีทยอยขึ้นอย่างไร การเติมกำลังซื้อให้ประชาชนด้วยการขึ้นค่าจ้างและเงินเดือนนี้ จะสนับสนุนให้มีการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการนานาชนิดเช่นกัน และแม้ว่าจะมีผู้ประกอบธุรกิจบางส่วนที่มีโครงสร้างต้นทุนจากแรงงานมาก แต่การประกาศล่วงหน้ายาวๆ ทำให้ภาคธุรกิจมีเวลาเตรียมการปรับตัว และได้รับการชดเชยบางส่วนจากการที่เศรษฐกิจโดยรวมได้รับการกระตุ้นให้ฟื้นตัวขึ้นติดต่อกันตั้งแต่ปี 67-70
- การลดราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคที่คาดกันว่าจะเข้ามาดูแลกระทรวงพลังงาน มีแนวคิดว่าจะช่วยดูแลปรับให้ราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าลดลงจากเดิม นอกเหนือจากจะช่วยให้ประชาชนเหลือเงินไปจับจ่ายใช้สอยสินค้าจำเป็นอื่นๆ ได้มากขึ้น ยังช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจลดต้นทุนได้อีกด้วย
4.มีความกังวลเรื่องเก็บภาษีการขายหุ้นเป็นลบต่อเนื่องจากรัฐบาลเดิม
การเดินเรื่องเก็บภาษีจากการมูลค่าการขายหุ้น เป็นเรื่องที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว เหตุผลหลักน่าจะมาจากการขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้นมากในหลายปีหลังมานี้ จึงต้องหาวิธีเก็บภาษีมาชดเชย โดยฝ่ายรัฐคิดว่าคนเล่นหุ้นนั้นเป็นคนรวย แต่รัฐอาจไม่ได้ข้อมูลล่าสุดมาว่า ล่าสุดนั้นผู้ลงทุนในหุ้นปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่ และคนที่ไม่ได้มีเงินล้านก็ได้เข้ามาออมเงินโดยการซื้อหุ้น ส่วนการขายหุ้นนั้นก็เหมือนกับการถอนเงินออมจากเงินฝากธนาคาร หรือถอนเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ เหมือนขายหุ้นของสหกรณ์เพื่อนำเงินไปใช้จ่าย ซึ่งกิจกรรมถอนเงินออมเหล่านั้นไม่ถูกเก็บภาษีการถอนเงินออม ขณะที่การถอนเงินออมจากหุ้น ที่เรียกว่าการขายหุ้นจะถูกเก็บภาษี และพิเศษกว่านั้นคือ แม้ว่าจะถอนเงินโดยการขายหุ้นแล้วขาดทุนก็ต้องถูกเก็บภาษีเช่นกัน
อัตราการเก็บภาษีที่ตั้งเรื่องกันไว้ที่ประมาณ 0.11% ต่อครั้ง คนนอกวงการฟังแล้วรู้สึกว่าน้อย แต่คนที่มีความเข้าใจในตลาดทุน จะรู้ว่านั่นเป็นอัตราที่สูงมาก เทียบกับอัตราค่านายหน้าโดยเฉลี่ยที่บริษัทหลักทรัพย์เก็บจากผู้ลงทุน ที่ปัจจุบัน ต่ำกว่า 0.10% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ลงทุนต่างชาติมีอัตราที่ต่ำมากๆ อาจต่ำถึง 0.03% หรือต่ำกว่านั้น
ดังนั้น การเก็บภาษีตอนขายที่ 0.11%ต่อครั้ง จึงเป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้ลงทุนเป็นอย่างมาก และหากเรามีการถอนเงินออมจากการขายหุ้นตัวแรก แล้วไปซื้อตัวใหม่ที่ดูน่าจะฝากอนาคตได้มากกว่า ต่อมาถอนเงินออมด้วยการขายหุ้นตัวที่ 2 ก็ต้องถูกเก็บภาษีการขายอีกครั้งหนึ่ง ถ้าใน 1 ปี เราซื้อแล้วขายหมุนเวียนไป 5 รอบ เราก็จะโดนเก็บภาษีการขายไป 0.55% พอเทียบกับผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นของประเทศไทย ช่วงหลังๆ 5 ถึง 10 ปีมานี้ เฉลี่ยได้ต่ำมาก แถวๆ 2-3% ต่อปี ดูแล้วลดแรงจูงใจให้ลงทุนในหุ้นไปมากทีเดียว และคาดกันว่า Fund Flow จากต่างชาติน่าจะลดลงไปเป็นอย่างมาก นี่อาจเป็นคำตอบว่า ทำไม Fund Flow จากต่างชาติจึงขานรับรัฐบาลใหม่ไม่ค่อยแรง ทั้งที่ตามเหตุผลข้อ 1-3 ที่อธิบายควรมีผลบวกมากกว่านี้
ความกังวลว่ารัฐบาลใหม่จะเก็บภาษีขายหุ้น เชื่อว่าเป็นผลลบกับมูลค่าหุ้นประมาณ 5% เพราะไปลดผลตอบแทนจากการลงทุนทุกปี แต่ราคาหุ้นได้สะท้อนรับข่าวนี้ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วไปครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะยังมีลุ้นว่ารัฐบาลใหม่อาจไม่ประกาศเก็บก็ได้ สุทธิแล้ว หากเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการก็จะเป็นลบกับมูลค่าหุ้นอีกราว 2.5% จึงขอแนะนำ รัฐบาลใหม่ทบทวนเรื่องนี้อีกสักครั้ง หรือช่วยดำเนินการให้เศรษฐกิจแข็งแรงก่อน จนราคาหุ้นขึ้นพอให้ผู้ลงทุนมีกำไรสวยๆ ปีละ 7-10% อย่างต่อเนื่องก่อน
สรุปผลประเมิน เมื่อรวมผลบวกและลบทั้งหมด มองว่า มูลค่าของหุ้นโดยรวมซึ่งเราจะสะท้อนออกไปที่ SET Index ควรจะมีมูลค่าสูงขึ้น 6.5% เทียบกับวันฐานที่เรายังไม่มั่นใจว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีกันแน่ (ช่วงระดับ 1,520 จุด) มูลค่าหุ้นจะไปที่ 1,619 จุด เป้าหมายวันเวลาที่ปลายไตรมาส 4 เมื่อตลาดได้เห็นการเริ่มทำงานของ ครม. หลังถวายสัตย์แล้ว กระทั่งได้เร่งจัดทำงบประมาณมารองรับแผนงานตามเป้าหมาย ซึ่งทั้งหมดคงจะครบถ้วนในปลายไตรมาสที่ 4 นี้ครับ ซึ่งเราคงต้องติดตามดูว่า มีความสำเร็จตามเป้าหมายนี้หรือไม่ เพื่อปรับมุมมองการวิเคราะห์ให้สอดคล้องกับความคืบหน้าหรือความติดขัด
ส่วนหมวดธุรกิจที่น่าจะขานรับทางบวก โดยแนวทางของรัฐบาลชุดนี้ ผลบวกกระจายไปหลากหลายธุรกิจ ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ จนถึงขนาดเล็ก ทั้งธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โรงแรม สนามบิน ค้าปลีกและศูนย์การค้า ผู้ผลิตของใช้หลากหลายที่มีโอกาสรองรับการเติมกำลังซื้อประชาชน กลุ่มธนาคาร Finance ธุรกิจสื่อ และธุรกิจสื่อสารก็น่าจะเก็บเกี่ยวผลบวกไปด้วยกัน ส่วนผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยต้องเลือกเฟ้นเฉพาะบริษัทที่มีแบรนด์ดีและฐานะมั่นคง จึงจะได้ผลบวกเกินกว่าผลกระทบจากต้นทุนก่อสร้างที่จะเพิ่มจากค่าแรงงาน
บางธุรกิจที่ยังควรระมัดระวัง ได้แก่ หุ้นบริษัทที่มีสัดส่วนต้นทุนแรงงานสูง เช่น ธุรกิจสิ่งทอ และผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยที่แบรนด์ไม่แข็งแรง และมี Margin ต่ำหรือยังขาดทุนอยู่ เนื่องจากความยากลำบากในการแบกรับต้นทุนแรงงานที่จะสูงขึ้นอีก และยังมีต้นทุนอัตราดอกเบี้ยจ่ายที่สูงกว่าบริษัทชั้นนำค่อนข้างมาก เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ส.ค. 66)
Tags: SET, SET Index, ภาษีหุ้น, สมบัติ นราวุฒิชัย, หุ้นไทย