ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นไม่รับพิจารณาคดีที่ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) ยื่นฟ้องกรมธนารักษ์, คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก และ คณะกรรมการที่ราชพัสดุ กรณียกเลิกผลการคัดเลือกเอกชนเมื่อวันที่ 9 ส.ค.64 ซึ่ง EASTW เป็นผู้ได้รับการประเมินคะแนนสูงสุด และมีการดำเนินการคัดเลือกเอกชนใหม่ครั้งที่ 2 วันที่ 10 ก.ย.64 ซึ่ง EASTW เห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้มติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 วันที่ 29 ก.ย.64 ที่ให้บริษัท วงศ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออกไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย โดยระบุ 3 เหตุผล คือ EASTW ไม่ใช่ผู้มีสิทธิยื่นฟ้องคดี ฟ้องซ้ำ และคำฟ้องไม่ใช่เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
“การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น”
โดยศาลปกครองสูงสุดระบุเหตุผลว่า การที่กรมธนารักษ์มีคำสั่งแต่งตั้งและมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก เป็นเพียงการดำเนินการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้มีอำนาจปฏิบัติหน้าที่ทางปกครองตามที่ได้รับมอบหมาย
การแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวจึงเป็นเพียงการเตรียมการและดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองด้วยการมีมติให้เอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกในการบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกต่อไป ซึ่งเป็นการพิจารณาทางปกครองตามมาตรา 5 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 โดยที่กรมธนารักษ์ไม่ได้เป็นผู้ออกคำสั่งทางปกครองด้วยการมีมติให้เอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกอันเป็นมูลเหตุพิพาทในคดีนี้ EASTW จึงไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายอันหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการกระทำของกรมธนารักษ์
ส่วนที่ขอให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการที่ราชพัสดุที่เห็นชอบผลการคัดเลือกให้บริษัท วงศ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นคู่สัญญาในการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ร่างสัญญาและเงื่อนไขสำคัญของสัญญานั้น เห็นว่า เป็นการยื่นฟ้องคดีโดยมีคำขออย่างเดียวกันกับคดีหมายเลขดำที่ 1746/2564 จึงถือเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาล ต้องห้ามตามข้อ 36 (1) แห่งระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 2543
ส่วนที่ขอให้ศาลเพิกถอนมติคำสั่งหรือการกระทำใดของกรมธนารักษ์, คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก และคณะกรรมการที่ราชพัสดุนั้น เมื่อศาลฯ วินิจฉัยแล้วว่า EASTW ไม่ใช่ผู้มีสิทธิ์ฟ้องคดีและบางคำขอท้ายฟ้องเป็นการยื่นฟ้องเรื่องเดียวกัน ศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้องดังกล่าวได้ และที่อ้างว่าการฟ้องคดีนี้เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของสาธารณะนั้นเห็นว่า EASTW อ้างว่าได้รับการประเมินคะแนนสูงที่สุด แต่ถูกยกเลิกการคัดเลือกและจัดให้มีการคัดเลือกอีกครั้งเป็นเหตุให้ EASTW ไม่ได้รับการคัดเลือกในครั้งหลังย่อมเป็นกรณีที่ EASTW ยื่นฟ้องเพื่อรักษาประโยชน์ในการเข้าทำสัญญากับกรมธนารักษ์ และได้สิทธิ์ในการบริหารดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกซึ่งเป็นประโยชน์ส่วนตัวของ EASTW เอง ไม่ใช่การฟ้องคดีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ส.ค. 66)
Tags: EASTW, จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก, ท่อส่งน้ำอีซีซี, หุ้นไทย