ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรากำลังอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และการพัฒนาด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถตามได้ทัน ไม่ว่าประเทศนั้น ๆ จะมีความก้าวหน้าหรือความเจริญในระดับใด ๆ ก็ตาม ตัวอย่างเช่น Antonio Juliano ผู้ก่อตั้ง dYdX ธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลชื่อดังในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกความเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า นักพัฒนาคริปโทเคอร์เรนซีควรยอมแพ้ที่จะให้บริการลูกค้าในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยออกไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่อื่นแล้วค่อยกลับเข้ามาในประเทศสหรัฐอเมริกาใหม่ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เนื่องจากความไม่แน่นอนจากการกำกับดูแล
จากที่เห็นได้จากข่าวต่าง ๆ ผู้กำกับดูแลใช้กฎหมาย (เดิม) เข้าตรวจสอบเล่นงานธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรนซีในประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้เห็นได้ว่าแม้แต่ประเทศที่เป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์การเงินการลงทุนยังคงต้องเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับการกำกับดูแลและกฎหมาย จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ประเทศไทยจะต้องพัฒนากฎหมายและการกำกับดูแลให้เหมาะสมให้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและตลาดการเงินการลงทุนอื่น ๆ ให้เติบโตและไม่ขัดขวางการดำเนินธุรกิจมากจนเกินไป
หนึ่งในบทบาทที่สำคัญของการกำกับดูแลคือการปกป้อง ผู้บริโภค หรือ นักลงทุน จากการฉ้อโกงในรูปแบบต่าง ๆ จะก่อให้เกิดความไว้วางใจจากนักลงทุน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคหรือลงทุนอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้สถาบันการเงินแบบดั้งเดิมมีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมดำเนินธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น จนเกิดการใช้งานหรือการลงทุนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลและเงิน (Fiat) แบบดั้งเดิมมากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้นแล้วการกำกับดูแลที่เหมาะสมสามารถลดความผันผวนของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่ในปัจจุบันยังคงมีความผันผวนของราคาให้สามารถคาดการณ์ได้และตรวจสอบได้ง่ายยิ่งขึ้น และท้ายที่สุดการกำกับดูแลที่ชัดเจนจะสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับผู้พัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ให้ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องเผชิญกับผลกระทบทางกฎหมายในอนาคต
แต่อย่างไรก็ตาม หากมีการกำกับดูแลที่ไม่เหมาะสม เช่น การกำกับดูแลที่เข้มงวด หรือมีความไม่แน่นอน หรือสร้างภาพความเป็นศัตรู ก็อาจก่อให้เกิดการขัดขวางนวัตกรรมใหม่ต่าง ๆ เพราะนักพัฒนาอาจพิจารณาแล้วว่าจะต้องเผชิญกับผลกระทบทางกฎหมายในอนาคต ทำให้เกิดการย้ายถิ่นไปยังประเทศที่มีการกำกับดูแลที่ชัดเจน ทำให้ประเทศสูญเสียตำแหน่งงาน นวัตกรรมใหม่ ๆ และรายได้จากภาษีต่าง ๆ
ในทางกลับกัน หากไร้การกำกับดูแลที่เหมาะสมก็อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น Decentralized Finance (DeFi) ที่สามารถให้กู้ยืมเงิน หรือการให้ประโยชน์ในทางทรัพย์สินใด ๆ และเกิดความผิดทางธุรกิจหรือระบบเทคโนโลยีทำให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือตลาดการเงินอื่น ๆ อย่างกว้างขวางได้ หรือที่ร้ายแรงที่สุดคือการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรม เช่น การฟอกเงิน การเลี่ยงภาษีหรืออาชญากรรมทางการเงินอื่น ๆ ซึ่งในท้ายที่สุดจะส่งผลต่อความไว้วางใจจากผู้บริโภคหรือนักลงทุนต่อธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวม
ดังนั้นแล้ว หน่วยงานกำกับดูแลควรร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้มีส่วนได้เสียเพื่อพัฒนากฎหมายหรือกฎเกณฑ์เพื่อปกป้องผู้บริโภคหรือนักลงทุน โดยไม่ขัดขวางการพัฒนานวัตกรรมของนักพัฒนา ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ผู้กำกับดูแลจะต้องหาสมดุลดังกล่าว จากตัวอย่างข้างต้นในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นไร้ซึ่งการกำกับดูแลที่ชัดเจน นอกจากจะไม่ได้มีส่วนช่วยส่งเสริมธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วยังอาจก่อผลกระทบยังตลาดการเงินการลงทุนโดยรวมอีก
ในส่วนของประเทศไทยที่เพิ่งได้รัฐบาลชุดใหม่ที่มีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลต่าง ๆ รวมถึงธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น จะต้องเผชิญกับความท้าทายดังกล่าวเช่นกัน การดำเนินนโยบายเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวที่ถูกต้องเหมาะสม จะเป็นส่วนช่วยพัฒนานวัตกรรม สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและส่งเสริมตลาดการเงินของประเทศไทยให้เติบโตต่อไป
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ส.ค. 66)
Tags: Cryptocurrency, Decrypto, คริปโทเคอร์เรนซี