NRF เตะตา SoCalGas เจ้าของก๊าซใหญ่สุดในสหรัฐเตรียมเข้าลงทุนใน Frontline Bioenergy

บริษัท ซัทเทิร์น แคลิฟอร์เนีย แก๊ส จำกัด (SoCalGas) ทุ่มงบสนับสนุนกว่า 13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 450 ล้านบาท ยื่นคำขอต่อคณะกรรมการสาธารณูปโภคของรัฐแคลิฟอร์เนีย (CPUC) ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าร่วมพัฒนาในโครงการของบริษัท ซาน วาคีน รีนิวเอเบิล จำกัด (SJR) ซึ่งกำลังพัฒนาโดย Frontline Bioenergy โดยมี บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ (NRF) เป็นผู้ลงทุนกับโครงการ สอดคล้องไปกับทิศทางการทำงานระยะยาวขององค์กร

สำหรับโครงการ SJR จะใช้เทคโนโลยีระดับชั้นนำของโลกที่ได้ Frontline Bioenergy เป็นผู้ริเริ่มในการแปรรูปเปลือกถั่ว และเศษวัสดุเหลือใช้จากการเก็บเกี่ยวหรือจากการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ที่สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงที่ผลิตได้จากกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์ (ไบโอมีเทน) ซึ่งยังได้รับการจดสิทธิบัตรสำหรับการใช้งานทั่วไป รวมถึงการใช้ในยวดยานพาหนะ

หากคำขอได้รับการอนุมัติ โครงการนี้จะเป็นโครงการที่เกี่ยวกับก๊าซชีวมวล (Biomass) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยจะมีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนสูงสุดถึง 4.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการใช้รถยนต์สันดาปกว่า 52,000 คัน หรือเทียบเท่ากับเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรกว่า 400,000 ถึง 500,000 ตัน ทั้งนี้โครงการ SJR ยังช่วยลดมลพิษทางอากาศ และยกระดับสุขภาพของประชาชนโดยการนำเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่กำจัดไม่หมดในพื้นที่ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NRF เปิดเผยว่า เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่บริษัทพลังงานสะอาดระดับโลกอย่าง SoCalGas ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพในเทคโนโลยีของ Frontline ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และเข้าไปเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงจากการใช้ก๊าซธรรมชาติ ไปเป็นการใช้ก๊าซพลังงานหมุนเวียนที่มีค่าคาร์บอนเป็นกลาง อีกทั้งยังมีส่วนช่วยลดผลกระทบที่ส่งผลต่อสุขภาพ ความปลอดภัย ตลอดจนความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน สุดท้ายนี้ เราตั้งตารอที่จะได้ร่วมงานกับพันธมิตรอื่นๆ ในโครงการของ Frontline ไม่ว่าในสหรัฐอเมริกา ประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ ทั่วโลกอีกด้วย

นายนีล เนวิน ประธานเจ้าหน้าที่ด้านพลังงานสะอาด SoCalGas กล่าวว่า เรามีความมุ่งมั่นในการลดคาร์บอนด้วยวิธีการต่างๆ ตามข้อตกลงในรัฐแคลิฟอร์เนีย ดังนั้นการใช้ก๊าซหมุนเวียนจึงเป็นแนวทางที่สำคัญไม่แพ้การลดคาร์บอนด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การใช้พลังงานไฟฟ้า ไฮโดรเจน ตลอดจนการจัดการคาร์บอน อีกทั้งโครงการนี้ มีกำลังการผลิตต่อปีเพียงพอเทียบเท่ากับการผลิตพลังงานให้กับรัฐฮาวายทั้งรัฐ โดยใช้ประโยชน์จากการเผาขยะการเกษตร ให้เป็นก๊าซทดแทน เพื่อตอกย้ำความยั่งยืน และความยืดหยุ่นด้านพลังงาน ให้สอดรับกับวิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่การยกระดับให้เป็นเศรษฐกิจพลังงานที่สะอาด

ทั้งนี้ ในเดือน ก.พ.65 CPUC ได้นำมาตรฐานการจัดหาก๊าซทดแทนมาปรับใช้ ซึ่งกำหนดเป้าหมายสำหรับการจัดหาก๊าซหมุนเวียนที่เกิดจากการดักจับก๊าซมีเทนที่ปล่อยออกมาจากขยะอินทรีย์ในโรงงานบำบัดน้ำเสีย ฟาร์มโคนม ฝังกลบขยะมูลฝอย ขยะทางการเกษตร และเศษไม้ ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวส่งผลให้ SoCalGas ต้องนำก๊าซหมุนเวียนมาใช้แทนที่ก๊าซแบบเดิม 12.2% ภายในปี พ.ศ. 2573 นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังกำหนดให้ SoCalGas ยื่นเรื่องนำร่องในการใช้ก๊าซทดแทนอย่างน้อยหนึ่งโครงการ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนมวลชีวภาพจากไม้ให้เป็นไบโอมีเทนอีกด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ส.ค. 66)

Tags: , , , , ,