คริปโตมายด์ ส่องนโยบายแจก “เงินดิจิทัล” เผชิญความท้าทายทั้งด้านกม.-เทคโนโลยี

บริษัท คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด (Cryptomind Advisory) ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้ใบอนุญาตที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล ตั้งคำถามว่า นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทยทำได้จริงหรือ? โดยระบุว่า ตอนนี้เราได้นายกรัฐมนตรีและโฉมหน้าแกนนำรัฐบาลเป็นพรรคเพื่อไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จุดเด่นของพรรค คือ ความสำเร็จในอดีตที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจรวมถึงนโยบายใหญ่ที่ใครต่างก็ไม่เชื่อว่าจะทำได้สำเร็จ

ล่าสุด ทางพรรคได้มีนโยบายเศรษฐกิจเร่งด่วนที่ประกาศจะทำทันทีหลังจัดตั้งรัฐบาล เสร็จ เช่น การลดค่าไฟและน้ำมัน, พักหนี้เกษตรกร 3 ปี และ SME 1 ปี และ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่จะทำบนระบบบล็อกเชนซึ่งข้อสุดท้ายนี้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากบนโลกโซเชียลมีเดีย

จากคำสัมภาษณ์ของนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย มองว่ายังมีความไม่แน่นอน ในรายละเอียดของเงื่อนไขนโยบาย ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ในภายหลังตามความเหมาะสม ยกตัวอย่าง เช่น

  • ใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตรตามที่อยู่ทะเบียนบ้าน (ต่างจังหวัดอาจรัศมีกว้างกว่า)
  • สามารถใช้ซื้ออาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค หรือเครื่องมือทำกิน
  • ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าที่เกี่ยวกับอบายมุข ใช้หนี้ สินค้าออนไลน์ ยาเสพติดและการพนัน (อาจใช้ปลดหนี้เกี่ยวกับเกษตรหรือ กยศ. ได้ แต่ต้องหารือกันอีกที)
  • สามารถใช้ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ หรือผ่านเลขบัตรประจำตัวประชาชน + โค้ดส่วนตัว/QR code
  • จำกัดระยะเวลาใช้ภายใน 6 เดือน
  • คนทั่วไปไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้ (แต่คนรับต้องมีแอปฯ รับเงินคล้ายแอปฯ ถุงเงินและอยู่ใน ระบบภาษีจะแลกเป็นเงินสดได้ทุกเมื่อ ซึ่งโมเดลนี้อาจเปลี่ยนได้ในอนาคต)

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยคาดว่าจะเริ่มใช้นโยบายนี้ภายในครึ่งปีแรกของปี 67จากเดิมที่ตั้งเป้าให้ ทันช่วงปีใหม่เนื่องจากจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี โดยงบประมาณที่ใช้ในโครงการนี้ประมาณ 560,000 ล้านบาท (คิดจากคนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปมี 56 ล้านคน) จะดึงมาจาก 4 ส่วนหลักคือ

1) 260,000 ล้านบาท จากภาษีที่เก็บได้เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ จากการ ประมาณของสำนักงานงบประมาณ

2) 100,000 ล้านบาท จากภาษีนิติบุคคลและมูลค่าเพิ่มที่ได้จากโครงการนี้ โดยคาดการณ์จากเงิน ดิจิทัลที่แจกไปจะมีการซื้อขายหมุนเวียนในเศรษฐกิจมากกว่า 2.7 รอบ

3) 110,000 ล้านบาท จากการบริหารจัดการงบประมาณเดิมที่ไร้ประสิทธิภาพ

4) 90,000 ล้านบาท จากการบริหารงบประมาณสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน

*ข้อดีของเงินดิจิทัล 10,000 บาท

พรรคเพื่อไทยยืนยันว่านโยบายเงินกระเป๋าเงินดิจิทัลจะต่างจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในอดีตอย่าง เช็คช่วยชาติ, บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, ชิมช้อปใช้ ด้วยเหตุผลหลัก 2 อย่าง คือ

1) การแจกเงินก่อนใหญ่ในครั้งเดียวทำให้ประชาชนมองถึงเรื่องการลงทุนประกอบธุรกิจมากกว่า เพียงซื้อ ของใช้ในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัว 5 คนจะได้รับเงิน 50,000 บาท อาจจะเพียงพอ นำไปใช้ตั้งต้นในการทำธุรกิจ โดยพรรคเพื่อไทยจะมีนโยบายเสริมตามมา เช่น One Family One Soft Power (OFOS) ที่ช่วยส่งเสริมทักษะให้คนในครอบครัวจาก Thailand Creative Content Agency (THACCA) ที่เป็นหน่วยงานใหม่ที่ช่วยดูแลเรื่องนี้

2) การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการเก็บข้อมูล ทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น การโกงยากขึ้น การเก็บข้อมูลที่เชื่อถือได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความสามารถในการเขียนโปรแกรมลงบน เงิน (Programmable Money) เช่นการกำหนดขอบเขตในการใช้เงินดิจิทัลรัศมีไม่เกิน 4 กิโลเมตร จากทะ เบียนบ้าน หรืออายุการใช้งานจำกัดที่ 6 เดือน เป็นต้น

แม้นโยบายนี้จะจบไป แต่โครงสร้างบล็อกเชนที่ได้ลงทุนสร้างขึ้นมาจะเป็นรากฐานของระบบการ ชำระเงินใหม่ที่จะรองรับอนาคต ยกตัวอย่างเช่น Retail Central Bank Digital Currency (Retail CBDC) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังทำ Pilot test ในวงแคบไม่เกิน 10,000 คน ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ซึ่งจะ สิ้นสุดในไตรมาส 3 ปีนี้

ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงมองเห็นถึงความเหมาะสมที่จะใช้บล็อกเชนเป็นฐานการเก็บข้อมูลมากกว่า การใช้ระบบ Database แบบทั่วไปที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในอดีตได้เลือกใช้

*ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นของเงินดิจิทัล 10,000 บาท

แม้ว่าโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะมีข้อดีมากมายแค่ไหน ก็ย่อมมีเรื่องที่น่ากังวล ตามมาด้วยเช่นกัน โดยทาง Cryptomind Advisory ได้รวบรวมสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้หากเริ่มนโยบายเงินดิจิทัลไว้ดังนี้

  • ความเสี่ยงในการเกิดเงินเฟ้อ การที่มีปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้นในทันทีจะทำให้มีแรงซื้อเข้ามาจำนวนมากจนอาจเกิดการดันราคาสินค้าและบริการให้เพิ่มขึ้น ทำให้เงินที่มีอยู่มีอำนาจในการซื้อลดลง (Purchasing Power) หากรัฐบาล ไม่สามารถคุมราคาสินค้าในตลาดได้ พนักงานที่ได้เงินเดือนเท่าเดิมจะได้รับผลกระทบซึ่งมีโอกาสกดดันมาที่บริษัทที่ต้องขึ้นเงินเดือนพนักงานต่อหรือธนาคารกลางที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจ เหตุการณ์ เหล่านี้อาจจะส่งผลต่อเนื่องเป็นวงกว้างจนเกิดปัญหาได้
  • ความไม่ชัดเจนในด้านกฎหมาย พรรคเพื่อไทยกล่าวว่าเงินดิจิทัลนี้ไม่ใช่ CBDC หรือเงินบาทหรือเงินธนาคารที่เราใช้ในชีวิตประจำ วัน แต่จะมีความคล้ายกับ Fiat-backed Stablecoin ที่มีเงินบาทหนุนด้านหลังในอัตรา 1:1 คล้ายกับ USDT หรือ USDC ที่หนุนด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐในจำนวนที่เท่ากัน ดังนั้น เงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยที่ใช้ บล็อกเชนจึงมีความใกล้เคียงกับ “Utility Token หรือ E-money” แต่ก็มีรายละเอียดที่ยังขัดแย้งด้านกฎ หมาย ดังนี้

เงินดิจิทัล 10,000 บาท อาจเทียบใกล้เคียงกับ Utility Token แบบพร้อมใช้กลุ่มที่ 1 ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ พ.ศ. 2561 เพราะ “ให้สิทธิ์แก่ผู้ถือเหรียญในการได้มาซึ่งบริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะ เจาะจง” ยกตัวอย่าง JFIN ของบริษัท Jaymart ที่นำไปแลกบริการต่าง ๆ เช่น เครื่องดื่มเต่าบิน หรือ Rabbit Reward ของ BTS หรือ BNK Governance token ของศิลปิน BNK48 ที่ใช้โหวตทิศทางของวง หรือใช้แลกรับของรางวัลพิเศษของวง เป็นต้น

โดย Utility Token มีกฎสำคัญคือ จะต้อง “ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลก เปลี่ยน สื่อการชำระเงิน หรือโอนมูลค่าเพื่อชำระราคาสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดเป็นการทั่วไป (Means of Payment)” และมีข้อบังคับของพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ที่มีเพียงธนาคารแห่งประเทศไทยที่มี อำนาจในการออกเงินตรา โดยแม้ รมว. กระทรวงการคลัง จะอนุญาตให้เอกชนรายใดรายหนึ่งออกเงินตรา ก็ไม่สามารถทำได้

*เงินดิจิทัล 10,000 บาทจึงไม่เข้าข่ายเป็น Utility Token

หรือเงินดิจิทัล 10,000 บาทจะเทียบเคียงกับ E-money หรือเงินที่บันทึกในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ยกตัว อย่างเช่น บัตรโดยสารรถไฟฟ้า, บัตรศูนย์อาหาร, บัตรเติมเงินมือถือ, กระเป๋าเงินบนมือถือสำหรับการชอป ปิงออนไลน์ ซึ่งในรายละเอียดนั้น E-money จะต้อง “เติมเงินจริง” เข้าไปในระบบเพื่อใช้งาน ส่วนเทคโนโล ยีเบื้องหลังนั้นไม่มีการบังคับว่าต้องใช้หรือไม่ใช้บล็อกเชน

สำหรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท นั้นมีความใกล้เคียง “E-money ประเภทบัญชี” ที่ต้องได้รับใบ อนุญาตจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ก่อนให้บริการซึ่งน่าจะไม่มีปัญหาด้านนี้ แต่สิ่งที่คิด คือการ “เติมเงิน” เข้าไปล่วงหน้าในระบบจะทำได้หรือไม่สำหรับนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพราะงบ ประมาณ 560,000 ล้านบาทมาจากการตั้งสำรองงบประมาณที่คาดว่าจะได้มาจากภาษีที่จะเก็บได้ในปี 2567 หรือภาษีในตอนสิ้นสุดโครงการ ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถเติมเงินไปล่วงหน้าก่อนได้ (ต้องรอรายละ เอียดฉบับเต็มจากพรรคเพื่อไทย)

*เงินดิจิทัล 10,000 บาท จึงอาจไม่เข้าข่ายเป็น E-money เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ ไทยในวันที่ 19 กรกฎาคม ได้กล่าวว่า “มุมมอง ธปท. ที่มีต่อแนวทางนโยบายไม่เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งหาก มีนโยบายกระตุ้นใช้จ่าย ต้องพยายามชี้แจงและดูรูปแบบว่าเป็นอย่างไร ยืนยันว่าไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะทำไม่ ได้” และรายงานข่าวจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ระบุว่า “ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดของนโยบาย คงต้องขอดูความชัดเจนก่อน” ดังนั้นในแง่ของกฎหมายทาง Cryptomind Advisory รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่สามารถฟันธงในแง่ของกฎหมายได้เช่นกัน

*ปัญหาในมุมเทคโนโลยีของบล็อกเชน

จากคำให้สัมภาษณ์ของนายเผ่าภูมิที่ชูข้อดีของบล็อกเชนในเรื่องความโปร่งใส ความปลอดภัย การโกงยาก การเก็บข้อมูลและความสามารถในการเขียนโปรแกรมลงบนเงินดิจิทัลได้ ทาง Cryptomind Advisory มองว่าบล็อกเชนที่ทางพรรคเพื่อไทยจะนำมาใช้นั้น “อาจไม่ตอบโจทย์” ในหลาย ๆ เรื่อง ด้วยเหตุผลดังนี้

เหตุผลที่ 1: จำนวนธุรกรรมที่ไม่สามารถรองรับได้เพียงพอด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน คุณโดม เจริญยศ ผู้ก่อตั้ง Tokenine กล่าวว่า “บล็อกเชนในปัจจุบันรองรับจำนวนธุรกรรมได้อย่างมากเพียง 1,000 ธุรกรรม ต่อวินาทีเท่านั้น ในขณะที่พร้อมเพย์รองรับ 5,000 ธุรกรรมต่อวินาที และแอปฯ เป๋าตัง รองรับได้ 8,000 ธุรกรรมต่อวินาที จากที่เห็นว่าในช่วงที่มีการใช้งานสูง ระบบธนาคารในปัจจุบันยังมีปัญหา การใช้บล็อก เชนที่รับธุรกรรมได้น้อยกว่าหลายเท่าจึงมีปัญหาคอขวดอย่างแน่นอน”

เหตุผลที่ 2: บล็อกเชนของรัฐจะเป็นประเภทที่มีผู้บันทึกและตรวจสอบธุรกรรมมีจำนวนน้อย เพราะ อำนาจในการบันทึกธุรกรรมของประชาชนทั้งประเทศควรถูกดูแลโดยรัฐเท่านั้น ดังนั้นการกระจายตัวของ Back up ที่อยู่ตาม Node ต่าง ๆ จึงมีไม่มากพอที่จะเรียกว่ากระจายศูนย์ (Decentralization) เท่ากับ Bitcoin ที่มีหลายหมื่น Node ทั่วโลก

เหตุผลที่ 3: ความโปร่งใสและความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องที่อยู่ขั้วตรงข้ามกัน หากบล็อกเชนของพรรคเพื่อ ไทยเป็นแบบ Public Blockchain ที่ทุกคนสามารถเห็นทุกธุรกรรมที่เกิดบนบล็อกเชนได้ นั่นแปลว่าแม้เลข บัญชีจะไม่ได้ระบุชื่อเจ้าของ แต่ก็สามารถสังเกตพฤติกรรมจนรู้ได้ว่าใครเป็นเจ้าของและสามารถรู้ได้ว่าใคร มีเงินอยู่ในบัญชีเท่าไร ใช้จ่ายอะไรไปบ้างเมื่อเวลากี่โมง เป็นต้น ทำให้ความเป็นส่วนตัวของทุกคนได้หมด ลงไป

ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ต้องการเช่นนั้น ก็จะเป็นแบบ Private Blockchain ที่รัฐเป็นผู้รู้การเคลื่อนไหวทุกธุรกรรมเพียงผู้เดียว ซึ่งจะกลายเป็นระบบที่ไม่ต่างอะไรกับระบบ Database ทั่วไป เพราะ Private Blockchain ที่มีจำนวน Node ดูแลโดยรัฐทั้งหมดสามารถแก้ไขธุรกรรมย้อนหลัง เทคโนโลยีนี้จึงไม่มีจุดเด่นเรื่องความโปร่งใสอย่างที่พรรคต้องการ

เมื่อลองวิเคราะห์ข้อดีอื่น ๆ เช่น การเขียนโปรแกรมลงบนเงิน, การตรวจสอบการโกง หรือการ เก็บข้อมูลเพื่อใช้วิเคราะห์ต่อ “ระบบ Database ที่ใช้ทั่วไปก็สามารถทำได้แล้ว และมีต้นทุนที่ต่ำกว่า มากอีกด้วย” นอกเสียจากว่าต้องการใช้ระบบโครงสร้างบล็อกเชนนี้กับนโยบายอื่นในอนาคต ดังนั้นการใช้ บล็อกเชนในนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท อาจจะไม่ตอบโจทย์การใช้งานจริงมากเท่าไหร่หรือ อาจจะเป็นการลงทุนสูงที่มองในระยะยาว เช่นการใช้เป็น Pilot test ในโครงการ CBDC ที่มีวงผู้ใช้งานที่ ใหญ่ขึ้นก็เป็นได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ส.ค. 66)

Tags: , , , , ,