ตัวเลขเงินเฟ้อในกรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น ชะลอตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ในเดือนส.ค. แต่ก็ยังคงสูงกว่าเป้าหมาย 2% ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กำหนดไว้ ซึ่งอาจจะกดดันให้คณะกรรมการ BOJ ยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Ultra-easy Policy)
รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (25 ส.ค.) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสด แต่รวมเชื้อเพลิง ในกรุงโตเกียว ปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.9% และชะลอตัวลงจากเดือนก.ค.ที่ปรับตัวขั้น 3% แต่ตัวเลขดังกล่าวยังสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ของ BOJ ติดต่อกันเป็นเวลานานถึง 15 เดือน
ส่วนดัชนี Core-Core CPI ของกรุงโตเกียว ซึ่งไม่รวมทั้งราคาเชื้อเพลิงและราคาอาหารสด และเป็นตัวเลขที่ BOJ จับตาอย่างใกล้ชิดนั้น เพิ่มขึ้น 4% ในเดือนส.ค. ซึ่งแม้ว่าขยายตัวในอัตราเดียวกับเดือนก.ค. แต่ก็สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของ BOJ ถึง 2 เท่า
ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั้น ส่งผลให้คณะกรรมการ BOJ ตัดสินใจปรับนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการประชุมเมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวทำให้นักลงทุนมองว่า BOJ อาจเริ่มพิจารณาปรับนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่ใช้มาเป็นเวลาหลายสิบปี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ส.ค. 66)
Tags: BOJ, กรุงโตเกียว, ธนาคารกลางญี่ปุ่น, นโยบายการเงิน, เงินเฟ้อ, เงินเยน