สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขอให้พนักงานอัยการฟ้องผู้กระทำความผิด 13 ราย กรณีสร้างราคาหุ้น SCI GSC ASIAN FLOYD และ RP เพื่อขอให้กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุด โดยเรียกให้ชำระเงินรวม 25,374,681 บาท พร้อมดอกเบี้ย กำหนดระยะเวลาห้ามซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร (แล้วแต่กรณี)
ตามที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) ก่อนหน้านี้ได้มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดรวม 14 ราย ในกรณีสร้างราคาหุ้นของ บมจ.เอสซีไอ อีเลคตริค (SCI), บมจ.โกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์ (GSC), บมจ.เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น (ASIAN), บมจ.ฟลอยด์ (FLOYD) และ บมจ.ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ (RP) โดยกำหนดให้ชำระเงินรวม 27,398,667 บาท (ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด) และกำหนดระยะเวลาห้ามซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นระยะเวลารายละ 14 เดือน หรือ 30 เดือน (แล้วแต่กรณี) และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นระยะเวลารายละ 28 เดือน หรือ 60 เดือน (แล้วแต่กรณี)
ทั้งนี้ ผู้กระทำความผิด 1 ราย ได้ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ส่วนผู้กระทำความผิดอีก 13 ราย ได้แก่ (1) นายขจรเกียรติ อึ้งอร่าม (2) นางสาวพรทิพย์ เมธีเจริญวงศ์ (3) นางทัศนีย์ แย้มประดิษฐ (4) นางสาวมุทิตา เอกะวิภาต (5) นางสาวขณิษากาญจน์ โชคสหพิพัฒน์ (ชื่อเดิม นางสาววริศรา ชัยเจริญปัญญา) (6) นายเมธาสิทธิ์ มั่นชาวนา (7) นางสาววริยา เข็มทองประดิษฐ์ (8) นายธนพล เข็มทองประดิษฐ์ (9) นางสาวอัจฉรา สุวิเดชโกศล (10) นางสาวพจนา พิเศษโภค (11) นายสิทธาปวีร์ ชวรางกูร (12) นางสาวอชิรญา เกียรติทยากร (ชื่อเดิม นางสาวกัญปอร เกียรติทยากร) และ (13) นางสาวเมวิกา ดีศรี ไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ซึ่งพิจารณาได้ว่าผู้กระทำความผิดทั้ง 13 ราย ไม่ยินยอมที่จะระงับคดีในชั้น ก.ล.ต.
ดังนั้น ก.ล.ต. จึงมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีผู้กระทำความผิดทั้ง 13 รายดังกล่าวต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง โดยให้ชำระเงินรวมทั้งสิ้น 25,374,681 บาท พร้อมดอกเบี้ย รวมทั้งกำหนดระยะเวลาห้ามผู้กระทำความผิดทั้ง 13 รายซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร ตามแต่ละหุ้นที่สร้างราคาในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติ
อนึ่ง ก.ล.ต. ได้นำส่งการดำเนินการดังกล่าวต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เนื่องจากความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ส.ค. 66)
Tags: ก.ล.ต., คดีปั่นหุ้น, สัญญาซื้อขาย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, อัยการ