นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ ได้ปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้ลงเหลือ 2.5-3.0% จากเดิมคาด 2.7-3.7% ซึ่งการปรับลดประมาณการ GDP มีปัจจัยหลักมาจากการหดตัวอย่างต่อเนื่องถึง 3 ไตรมาส ของการส่งออกไทย ซึ่งมีผลมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ โดยสภาพัฒน์ ยังได้ปรับลดประมาณการส่งออกไทยในปีนี้เป็น -1.8% จากเดิมคาดไว้ที่ -1.6%
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ ปรับลดลงมาที่ 1.7-2.2% จากเดิม 2.5-3.5% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังมีแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยในปีนี้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 28 ล้านคนเท่ากับประมาณการเดิม ในขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยว ปรับลดลงมาที่ 1.03 ล้านล้านบาท จากเดิม 1.27 ล้านล้านบาท
เลขาธิการสภาพัฒน์ ยังกล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในปี 66 ได้แก่ 1.เงื่อนไขทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจ 2.เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากกว่าคาด และความผันผวนในตลาดการเงินโลก 3.ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจ ที่ยังอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 2.ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ส.ค. 66)
Tags: GDP, ดนุชา พิชยนันท์, ส่งออก, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สศช., เศรษฐกิจไทย